Low Interest Loan

เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี

ให้ความช่วยเหลือทางการเงินจะให้แก่ภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม ที่มีลักษณะการดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ดังต่อไปนี้

  1. ) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่   
  2. ) การพัฒนากระบวนการผลิต
  3. ) การจัดตั้ง หรือปรับปรุงห้องทดลองปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
  4. ) การสร้างเครื่องจักรต้นแบบ หรือ การทำวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering)
  5. ) การต่อยอดงานวิจัยภาครัฐ / มหาวิทยาลัย สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ 
คุณสมบัติของเอกชน
  1. เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่ม การผลิตต่าง ๆ ที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย ทั้งนี้ โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 51 เป็นของคนไทย
  2. เป็นเอกชนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีประสบการณ์ที่เหมาะสม และมีขีดความสามารถทางการเงิน ทางเทคนิค และการจัดการที่จะนำผลที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาไปใช้ หรือแสวงประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
  3. ไม่เป็นผู้ต้องโทษทั้งคดีแพ่งและอาญา หรืออยู่ในระหว่างการถูกฟ้อง หรือต้องคดีแพ่งหรือ อาญา อันอาจมีผลต่อความสามารถให้การดำเนินงานให้สำเร็จตามข้อผูกพันโครงการ
  4. เป็นธุรกิจเอกชนขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท จำนวนพนักงานเจ้าหน้าที่รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 200 คน 
  5. ไม่เคยได้รับสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมจากสถาบันอื่น ๆ ในโครงการเดียวกัน

วงเงินและเงื่อนไขการสนับสนุน

  1. วงเงิน ให้กู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 75 ของค่าลงทุนทั้งโครงการ และวงเงินกู้ของแต่ละโครงการจะต้องไม่เกิน 30 ล้านบาท
  2. อัตราดอกเบี้ย= (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี + 2.25) / 2
  3. ระยะเวลา สถาบันการเงินที่ร่วมโครงการจะเป็นผู้พิจารณากำหนดระยะเวลาให้กู้ที่เหมาะสม แต่ระยะเวลาผ่อนชำระจะต้องไม่เกิน 7 ปี ทั้งนี้อาจมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงินกู้งวดแรก โดยระยะเวลา ดังกล่าว สถาบันการเงินอาจพิจารณากำหนดจากพื้นฐานของความเหมาะสม

ประเภทค่าใช้จ่ายในข่ายสนับสนุน

  1. เงินเดือนค่าจ้างนักวิจัย ช่างเทคนิค พนักงาน เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และ/หรือ นักวิชาการเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องประจำโครงการ ฯลฯ ที่จัดจ้างขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะเพื่อให้ปฏิบัติงานตามโครงการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมที่เสนอมา
  2. ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดหาวัสดุและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้เฉพาะการดำเนินงานตาม โครงการที่ไม่ใช่เครื่องมืออุปกรณ์ดำเนินงานเป็นประจำปกติ แต่เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ที่เอกชนลงทุนจัดซื้อจัดหามาเป็นครั้งแรก และจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการดำเนินงานของโครงการเงินทุนที่ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว ไม่สามารถนำไปใช้หักเป็นค่าเสื่อมราคาของเครื่องมืออุปกรณ์ที่เอกชนมีใช้อยู่แล้วหรือนำไปใช้จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่มีอยู่แล้ว
  3. ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดจ้างที่ปรึกษา หรือใช้บริการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อดำเนิน การทางวิชาการต่าง ๆ ของโครงการ
  4. ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดฝึกอบรมความรู้วิชาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามโครงการให้แก่นักวิจัย นักวิชาการและพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำของโครงการ
  5. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย อาทิเช่น ค่าจ้างหน่วยงานวิจัยดำเนินงานบางเรื่อง ค่าซื้อเทคโนโลยี และค่าจ้างงานวิจัยสนับสนุนต่าง ๆ ฯลฯ

ประเภทค่าใช้จ่ายที่ไม่อยู่ในข่ายสนับสนุน

  1. ค่าจัดซื้อที่ดิน
  2. ค่าลงทุนสิ่งปลูกสร้าง/อาคารถาวร
  3. ค่าเงินทุนหมุนเวียน

กรณีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา หรือ โรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สามารถเข้าถึงบริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ของ สวทช. ได้โดยผ่านขั้นตอนอนุมัติแบบรวมเร็ว (Fast Track)

ติดต่อสอบถาม
งานสนับสนุนการวิจัย พัฒนาเเละวิศวกรรมภาคเอกชน
โทรศัพท์ : (+66)2-564-7000 ต่อ 1334-1339
E-mail : cdp@nstda.or.th
รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.nstda.or.th/cdp