News & Activities


22 ตุลาคม 2557

เปิดโครงการ e-ASIA Joint Research Program ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หวังดัน ให้เกิดความร่วมมือด้านงานวิจัยร่วมกับประเทศสมาชิก ASEAN+8

          เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 โครงการ e-ASIA Joint Research Program (e-ASIA JRP) จัดงานเปิดตัวสำนักงานเลขานุการฯ อย่างเป็นทางการ ณ อาคารกลุ่มนวัตกรรม 1 (Innovation Cluster 1) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี ในการนี้ ดร. เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เข้ามอบกระเช้าดอกไม้เพื่อแสดงความยินดี ร่วมกับ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ

          ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ. สวทช. เปิดเผยว่า การที่ e-ASIA JRP มาเปิดดำเนินการที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อร่วมผลักดันการวิจัยพัฒนาร่วมกันทั้งในและต่างประเทศ โดย สวทช. ภายใต้สังกัด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีพันธกิจในการเสริมสร้างประสิทธิภาพงานวิจัยและนวัตกรรมของชาติ เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่สำคัญความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น ถือเป็นตัวกระตุ้นและผลักดันเพื่อให้ไปสู่พันธกิจดังกล่าว

          ที่ผ่านมาญี่ปุ่น ถือเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. อย่างแน่นแฟ้น ได้ยังประโยชน์แก่งานด้านวิจัยและพัฒนา (R&D community) มาโดยตลอด รวมถึงโครงการ e-ASIA JRP ริเริ่มโดย Japan Science and Technology Agency (JST) เป็นโครงการสนับสนุนให้เกิดการร่วมวิจัยระหว่างประเทศ ASEAN+8 กล่าวคือ ประเทศสมาชิกอาเซียน และ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซียและสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับภูมิภาคโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญ

          ปัจจุบันโครงการ e-ASIA JRP มีหน่วยงานร่วมเป็นสมาชิกทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน จาก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ เวียตนามและประเทศไทยซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินโครงการ คือ สวทช. โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการร่วมวิจัย/ แลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่าง สวทช. รวมถึงหน่วยงานวิจัย/ สถาบันการศึกษาในประเทศ กับหน่วยงานวิจัย/ สถาบันการศึกษาในประเทศสมาชิก เปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยก้าวเข้าสู่เวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิก ที่สำคัญเป็นการกระชับความสัมพันธ์เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระยะยาวอย่างยั่งยืนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

          ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ สวทช.ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการดังกล่าว ได้สนับสนุนการทำวิจัย ร่วมกับสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิก ดังนี้

  • สาขา Nanotechnology and Materials จำนวน 2 โครงการ และ สาขา Biomass and Plant Science จำนวน 1 โครงการ ซึ่งเป็นการวิจัยร่วมระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น-เวียตนาม
  • สาขา Functional Materials จำนวน 1 โครงการ ซึ่งเป็นการวิจัยร่วมระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์ และในปี 2557 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกหน่วยงานล่าสุดเพิ่มอีกหน่วยงานหนึ่งของประเทศไทย

 ดูรูปภาพเพิ่มเติม Facebook