News & Activities


18 กันยายน 2556

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมจัดเสวนาและออกบูธในงาน

          เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สกว. จัดงาน มหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา สกว. หรือ TRF IP Expo 2013 ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงนักวิจัยและผู้ประกอบการให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือ ผลักดันงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ภายในงานได้มีผลงานทรัพย์สินทางปัญญากว่า 100 รายการที่นำมาจัดแสดงในโซนนิทรรศการ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยร่วมออกบูธเพื่อนำเสนอความพร้อมของอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 สำหรับภาคเอกชน          

         ความพร้อมของอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (Innovation Cluster 2)ที่มีพื้นที่รองรับภาคเอกชนที่ต้องการเข้ามาเช่าพื้นที่ทำงานวิจัยกว่า 124,000 ตร.ม. นอกจากนี้ยังมีบริการเพื่อสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี อาทิ ผู้เช่าสามารถใช้บริการด้านการวิเคราะห์และทดสอบจากห้องปฏิบัติการและหน่วยงานวิจัยต่างๆ ของ สวทช., เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, การจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น รวมถึงยังมีสิทธิพิเศษต่างๆ ที่จะได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำวิจัยและพัฒนา อีกทั้งยังมีการสนับสนุนจากกรมสรรพากรด้วยการยกเว้นภาษีนิติบุคคลเพื่องานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีได้ถึง 200% เป็นต้น ภายในงานดังกล่าว มีผู้สนใจหลายรายเข้ามาสอบถามรายละเอียดที่บูธและขอเข้าเยี่ยมชมอุทยานประเทศไทย

          งานเสวนาช่วงบ่าย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยได้รับเกียรติจาก สกว. จัดเสวนา ภายใต้หัวข้อ "นับ 1 ในนิคมวิจัย สร้างสรรค์ความยิ่งใหญ่ในเวทีโลก" การเสวนาครั้งนี้ได้เชิญบริษัทผู้เช่าที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาต่อยอดในเชิงพาณิชย์จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินการเสวนาโดย น.สพ.สนัด วงศ์ทวีทอง ผู้อำนวยการฝ่ายขายและบริการคีย์แอคเคานต์ ซึ่งทั้ง 3 ท่านได้มาเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลักๆ          

         Thai Dental ตั้งไข่ล้ม...จาก Idea สู่ฝันที่เป็นจริง – โดย คุณประพันธ์ วิไลเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเด็นทอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับประสบการณ์ของการเข้ามานับ 1 ที่นิคมวิจัยในฐานะการเป็นบริษัทบ่มเพาะ มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาในทุกๆ การทำธุรกิจ จากตั้งไข่ล้ม จนมาถึงวันนี้ยืนได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง มีการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัทกับ NECTEC ผลิตและคิดค้นเก้าอี้ทำฟันนวัตกรรมที่ใช้พลังงานลมแทนพลังงานไฟฟ้า ประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 80% เริ่มเป็นที่นิยมและยอมรับจากลูกค้ามากขึ้น จนในปัจจุบันได้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้วยการผลิตเก้าอี้ทำฟันสำหรับคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงการรักษาได้อย่างคนปกติ ในช่วงหนึ่งของการเสวนาคุณประพันธ์ได้กล่าวว่า "ผมล้มลุกคลุกคลานเริ่มต้นทำกันแค่ 2 คน ถ้าไม่มีพี่เลี้ยงและคนมีฝีมือในอุทยานวิทยาศาสตร์มาเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาให้กับผม ก็คงไม่มีวันนี้ วันที่ลูกค้าเป็นคนทำการตลาดให้กับผมเอง พูดกันไปปากต่อปาก เพราะเกิดความเชื่อมั่นในนวัตกรรมและฝีมือคนไทย ทุกวันนี้ผมเลิกคิดแล้วว่าจะขายได้ถึงเป้ามั๊ยในแต่ละปี? แต่ผมต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตทันออเดอร์ของลูกค้า..."

         KEEEN สร้างสรรค์งานวิจัย.. IP ไทยสู่ตลาดโลก – โดย ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท คีนน์ จำกัด ทำการศึกษาและคิดค้นร่วมกับ BIOTEC จนเกิดนวัตกรรมใหม่ เรียกว่า "สารชีวบำบัดภัณฑ์" เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ช่วยลดค่าใช้จ่ายแฝงในกระบวนการผลิต การบำบัดของเสียก่อนปล่อยคืนสู่สิ่งแวดล้อม ได้กล่าวทิ้งท้ายช่วงเสวนาว่า "การที่เราทำสินค้าออกมาแล้วโดนก๊อปปี้ หรือลอกเลียนแบบ อย่าถอดใจแต่จงภูมิใจ เพราะมันเป็นตัวบอกคุณว่าสินค้านั้นมี demand สิ่งหนึ่งที่ป้องกันการลอกเลียนแบบได้ดีที่สุดคือ คุณต้องทำแบรนด์ของคุณให้เข้มแข็ง การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งจำเป็นมาก"

          CDIP 100 ล้านใน 4 ปี..รับจ้างวิจัย ใครจะเชื่อ? – โดย ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด เน้นการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาสมุนไพรและเครื่องสำอางครบวงจร คิดค้นนวัตกรรมในการเคลือบเม็ดยา ร่วมกับ NANOTEC แก้ปัญหาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ เพิ่มความยืดหยุ่น สีและกลิ่นของเม็ดยาให้ดูน่ารับประทานมากขึ้น ส่วนหนึ่งของการเสวนา ดร.สิทธิชัย กล่าวว่า "การที่คุณจะอยู่รอดในธุรกิจ คุณต้องมีสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา มีนวัตกรรม และสิ่งที่คู่แข่งไม่มี บริษัทผมโตแบบก้าวกระโดดได้ก็เพราะผมจะหยิบเอางานวิจัยจากที่ต่างๆ ที่ผมสนใจมาคิดและรีบลงมือทำ โลกของธุรกิจทุกวันนี้ ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้าตัดสินใจให้เร็ว ทำให้เร็ว ใครก็ตามคุณไม่ทัน"

          อีก session ของงาน เบทาโกรได้รับเกียรติเข้าร่วมจัดเสวนา "เบทาโกรกับการทำงานวิจัยและพัฒนา : คาดหวังอะไรจากภาคมหาวิทยาลัย" โดย รศ.ดร. สุวิมล กีรติพิบูล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คนกลาง) และ ผศ.ดร. มณฑิรา นพรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (คนขวา) ดำเนินการเสวนาโดย น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร ได้มีการพูดถึงความยากและขีดจำกัดกับการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัย คำถามหนึ่งจากเสวนานี้ที่หยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือ จริงหรือไม่ที่นักวิจัยและภาคอุตสาหกรรมอยู่บนคนละคลื่นความถี่? การที่จะอยู่บนคลื่นความถี่เดียวกันนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการสื่อสารแบบ 2 ทาง ด้วยการให้ความชัดเจนของเป้าหมายและสิ่งที่แต่ละฝ่ายคาดหวัง เอกชนต้อง การให้นักวิจัยช่วยในด้านไหนและแค่ไหน? ในขณะเดียวกันนักวิจัยต้องบอกถึงความชัดเจนและเงื่อนไขของเรื่องเวลาและความเป็นไปได้ผลของงานวิจัยตามที่เอกชนคาดหวัง รวมถึงการสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ของนักวิจัย ทำให้เกิดการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาคเอกชน ตัวอย่างความสำเร็จของเบทาโกรที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วันนี้ เบทาโกรนำร่องเปิด Betagro Connect @ CU และ Betagro Connect @ kmutt เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม


 


ดูรูปภาพเพิ่มเติม Facebook