Testimonials


T.A.S. Corporation

คุณธนากร ศิริวัฒนาเลิศ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอ.เอส. คอร์ปอเรชั่น จำกัด

บริษัท ที.เอ.เอส. คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Technology Advanced Sustainable: T.A.S. Corporation) ผู้ผลิตหลังคาเมทัลชีท ฉนวนกันความร้อน แผ่นฉนวนกันความร้อน โครงสร้างเหล็ก น้ำยารองพื้น และโซลาร์เซลล์ ตั้งอยู่ที่อาคารกลุ่มนวัตกรรม 1 (INC-1) ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การวิจัยที่เข้มข้นเพื่อพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้การบริหารงานโดย CEO รุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคุณธนากร ศิริวัฒนาเลิศ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอ.เอส. คอร์ปอเรชั่น จำกัด และคุณชาญยุทธ มณีมาตย์ ผู้จัดการทั่วไป

คุณชาญยุทธ มณีมาตย์ ผู้จัดการทั่วไป

แนะนำบริษัท ที.เอ.เอส. คอร์ปอเรชั่น จำกัด

คุณธนากร: T.A.S เป็นกลุ่มธุรกิจเมทัลชีทครบวงจร ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีทั้งหลังคาเมทัลชีท ฉนวนกันความร้อน และโซลาร์เซลล์ โดยเราจะโฟกัสที่ Innovation Insulation เพราะมองว่าตอนนี้ยังไม่เหมาะกับคนไทย ทั้งในแง่ของราคาและความสะดวกในการใช้งาน เช่นเดียวกับ solar cell ผมมองว่ามันยังมีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ ในขณะที่ main target สำคัญของ T.A.S คือ ต้องการทำสินค้าที่มี reasonable price บ่อยครั้งที่เราจะเห็นว่าสินค้าที่มีคุณภาพดี ทำไมราคาถึงสูง พอราคาสูงนั่นแปลว่าคนที่มีรายได้สูงเท่านั้นที่จะมีกำลังซื้อหรือใช้สินค้าพวกนี้ได้ แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลางถึงไม่สามารถที่จะ access สินค้าในระดับคุณภาพเดียวกันได้ ผมจึงมองเห็นจุดนี้ว่าสินค้าต้องสมเหตุสมผล คุณภาพต้องดีในราคาประหยัด จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เรามองและต้องการให้เป็นครับ และ T.A.S มีบริษัทฯ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เรามองว่าจะทำยังไงให้กลุ่มบริษัทที่มีอยู่ทั่วประเทศได้มีแนวทางการพัฒนาที่ดีขึ้นและยั่งยืนตามนโยบายหลักของบริษัท

“เมื่อเวลาเราเห็นสินค้ามีข้อเสียอะไร แล้วทำไมไม่เอาข้อเสียนั้นมาปรับแก้ ผมก็อยากทำให้เป็นจริงขึ้นมา ผมก็มาหาว่าเราจะร่วมงานกับใครที่จะมีนักวิจัยมาช่วยแก้ข้อเสีย มาร่วมกันพัฒนาสินค้าที่ทำออกมาโดยคนไทยเพื่อคนไทย เราจึงมองเห็น อวท. ว่าเป็นสถานที่ที่มีนักวิจัยอันดับต้นของประเทศ น่าที่จะช่วยหรือแก้ปัญหานี้ได้ เพื่อให้คนไทยได้ใช้สินค้าดี มีคุณภาพ ในราคาที่คุ้มค่า จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงมาตั้งอยู่ที่ อวท. ครับ”

คุณชาญยุทธ: ย้อนกลับไปเมื่อคุณธนากรให้โจทย์ว่าจะทำยังไงที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบริษัทให้เกิดความยั่งยืนแบบ sustainable development เราเลยเข้ามาติดต่อ อวท. ว่าเรามีผลิตภัณฑ์แบบนี้และเราอยากพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นของคนไทย แล้ว อวท. ก็เปิดโอกาสให้เข้ามาเยี่ยมชมและเข้ามาทำความรู้จักกับนักวิจัยทางด้านนี้ พอเราได้เข้ามาเห็น facility ที่อยู่ใน อวท. ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นหลักจากแนวคิดพัฒนาสินค้าแบบยั่งยืนของคุณธนากรมาดำเนินการให้เป็นจริง คุณธนากรเลยตัดสินใจเลือกที่ตั้งบริษัทฯ ที่นี่ตั้งแต่ปี 2019 และทุกๆ ปี เราก็มีการพัฒนาสินค้าใหม่ออกมา

คุณธนากร: ปัจจุบันเทรนด์ของกลุ่มเมทัลชีท หรือ กลุ่ม insulation ต่างๆ ทุกวันนี้ที่เห็น คือ ยังไม่ได้มองถึง sustainable development แต่จะมองว่าทำอย่างไรที่จะให้มีกำไรมากที่สุด มียอดขายสูง ๆ ซึ่งทางกลุ่ม T.A.S ไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นประเด็นหลัก ผมเรียนตามตรง คือ ผมอยากให้ลูกหลานได้เห็นธรรมชาติในแบบที่คนรุ่นเราเห็น ได้สูดอากาศสะอาดเหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก ได้อยู่ในสังคมที่สะอาด สังคมที่เห็นแล้วยิ้มให้กัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผมอยากเห็นจุดนั้นมากเลยครับ คนอื่นจะทำยังไงผมไม่รู้ แต่ผมมีจุดยืนและต้องการทำแบบนี้ ผมเชื่อว่ามีคนที่คิดและมีอุดมการณ์ที่พร้อมร่วมทางไปกับผม

สิ่งที่ได้รับหลังจากมาอยู่ใน อวท.

คุณชาญยุทธ: ผมเรียกว่าเป็น connection ที่ T.A.S ได้จากที่ อวท. แนะนำ ก็จะมีทั้งภาคการศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนด้วยกัน เราก็ต่อยอดจากจุดที่อยู่ตรงนี้ อีกอย่างที่เราได้โอกาสจาก อวท. เป็นตัวเชื่อมก็คือ ความร่วมมือระหว่างประเทศ มีทั้งในมุมการทำวิจัยและการตลาด การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เหมือน อวท. เป็นจุดเริ่มและมีจุดเชื่อม 3 ส่วน ทั้งระดับอุดมศึกษา ภาคเอกชน และต่างประเทศให้เรา มันช่วยลดขั้นตอน เป็นทางลัดที่ช่วยเราได้มาก ทำให้เรา speed up ได้เร็วขึ้น

คุณธนากร: T.A.S ได้พัฒนาฉนวนกันความร้อนที่เป็นตัวกันความร้อน ตอนนี้เรา launch เป็น PU Foam ที่ต้านทานความร้อน ความคงทนสูงกว่าในราคาเท่ากับ PE ตัวเดิม แต่จะปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า อย่าง PE เมื่อใช้งานไปแล้วก็จะออกมาเป็นฝุ่นละออง ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ขึ้นมา เราก็เลยพัฒนาขึ้นมาแทนตัวเดิม สินค้ามีปัญหาอะไร เราก็พัฒนาขึ้นมา อย่าปล่อยให้อยู่แต่ในหัว ถ้าเราคิดแต่ไม่ทำ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ และปัญหานี้เรามี อวท. มาช่วยร่วมทำให้เป็นจริงได้ ผมต้องขอบคุณ อวท. ด้วยเช่นกัน

คุณชาญยุทธ: ตอนนี้เราร่วมวิจัย solar cell กับเอ็นเทคอยู่ครับ T.A.S เรากำลังจะเปลี่ยนรูปแบบ solar cell ในประเทศไทย พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือ ตอนนี้ผู้ผลิต solar cell รวมถึงผู้ติดตั้งจะเชี่ยวชาญด้าน solar cell เพียงอย่างเดียว แต่ในประเทศไทย solar cell ติดบนหลังคา (ไม่นับ solar farm) ซึ่งก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำหนัก แต่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหลังคาเหล็กอยู่แล้ว เรารู้การที่จะ connect แผง solar cell กับหลังคา เรามีข้อได้เปรียบว่าเราจะพัฒนาตัวนี้อย่างไรให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายและใช้ต้นทุนที่น้อย เรากำลังพัฒนาร่วมกับเอ็นเทค เพื่อเปลี่ยนวิถีการติดตั้ง solar cell โดยอาศัยองค์ความรู้ของเราต่อยอดจาก solar roof รุ่นใหม่จะบางและเบากว่า แต่ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับรุ่นหนักๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันและทำยังไงให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่าย เพราะปัจจุบันราคาสูงและติดตั้งยาก คาดว่าจะเปิดตัวได้เร็วๆ นี้ครับ

“ตอนนี้ผลทดสอบวิจัยเสร็จแล้ว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่เรากำลังรอผลการทดสอบด้านมาตรฐานเพื่อจะได้ใบ certificate ออกมาการันตีคุณภาพและเป็นใบเบิกทางให้กับลูกค้าผู้ใช้งานได้มั่นใจว่าสิ่งที่เปลี่ยนใหม่มันดีกว่าเดิมอย่างไร”

คุณธนากร: แต่ละเดือนงาน insulation เกี่ยวกับหลังคา เราขายออกตลาดมากกว่า 1 แสนเมตร และสินค้าพวกนี้ติดตั้งอยู่บนหลังคาหรือบนหัวของเรา เค้าได้ใช้ของที่มีคุณภาพ ใช้สินค้าที่ปลอดภัย เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนของไทย เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกภูมิใจว่าบริษัทเล็กๆ ของเราได้มีส่วนร่วมในจุดนี้ด้วย ก็รู้สึกดีใจ เพราะนั่นคือความสำเร็จของผู้บริหารและพนักงานใน T.A.S ทุกคน ปัจจุบันเราจะเปิดตัวที่ต่างประเทศด้วย เราต้องการเป็น Product of Thailand ให้ชาวต่างชาติได้รู้ว่าคนไทยสามารถทำได้ ผมอยากทำให้ได้ ถ้าหากได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐช่วยกันกระจายข่าวสารออกไป และผลงานเหล่านี้เราได้จด IP เรียบร้อยแล้ว เพราะถ้าออกไปจัดแสดงที่ต่างประเทศแล้วก็กังวลเรื่องการลอกเลียนแบบ ซึ่งประเด็นนี้ทาง อวท. ก็ให้คำแนะนำมาเป็นอย่างดีมากเลยครับ

สิ่งที่อยากบอกกับ อวท.

คุณธนากร กล่าวว่า บริษัทฯ รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของ อวท. มาโดยตลอด ผมอยากขอบคุณนักวิจัยทุกท่านที่สละเวลาของตัวเอง ผมเข้าใจว่านักวิจัยต้องใช้เวลาค้นคว้าสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์ ต้องใช้เวลาอยู่กับมัน ไม่มีใครเข้าใจ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากๆ ต้องขอบคุณมากที่สละเวลาเพื่อประโยชน์ให้กับคนไทยและเพื่อนร่วมโลก เป็นหัวใจในการผลักดันนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ให้กับพวกเรา อยากขอบคุณนักวิจัยมากๆ ผมเข้าใจนักวิจัยที่เค้าเรียนจบมาแล้วมี passion ในการทำงานมาก แต่คนที่ได้เครดิตกลับเป็นคนที่เอางานวิจัยไปใช้ ผมมองว่าหนึ่งในเครดิตที่สำคัญคือนักวิจัย ขอบคุณที่เป็นเบื้องหลังสำคัญ เหมือนปิดทองหลังพระ ผมมองเห็นและนึกถึงเสมอครับ......

สนใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งหรือใช้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ติดต่อที่ CONNEX: ศูนย์เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจ

โทร. 0-2564-7200 ต่อ 71950 หรือ connex@nstda.or.th