Testimonials


Novagreen

Khun_Jariya_image
คุณจริยวดี บุบผา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวา กรีน เพาเวอร์ ซิสเท็ม จำกัด และในฐานะประธานชมรมผู้เช่า อวท. เล่าว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ด้านพลังงาน บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี สาธิต ฝึกอบรมงานด้านพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานและแก้ไขปัญหา ออกแบบ ผลิต จัดจำหน่ายและติดตั้ง เครื่องปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้า บริษัทเริ่มทำวิจัยพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และเป็นปีที่มาอยู่ที่ อวท. โดยธุรกิจของบริษัทฯ เน้นเรื่องประหยัดพลังงาน พัฒนาสมาร์ทมิเตอร์ไฟฟ้า ดังนั้นลูกค้าหลักๆ คือ โรงงาน เพราะทุกโรงงานใช้ไฟฟ้าเยอะ ถ้าเค้าประหยัดในส่วนนี้ได้ ต้นทุนเค้าก็จะลดลงได้มาก
ครั้งแรกที่สนใจมาตั้งที่ อวท. เพราะได้รับคำแนะนำจาก BOI ว่าถ้าเรามาอยู่ที่ อวท. เราจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก 5 ปี ตอนที่เข้ามาดูพื้นที่ อวท. สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด คือ บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่น่าทำงานมาก เป็นเหมือนนิคมวิจัยจริงๆ สิ่งแวดล้อมร่มรื่น เลยตัดสินใจว่าจะเข้ามาตั้งบริษัทที่ อวท. ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าจะต้องมีความร่วมมืออะไรกับนักวิจัยหรือจะมีสิทธิประโยชน์อะไรให้เอกชนอย่างเราบ้าง
พอเข้ามาอยู่ที่ อวท. ก็เริ่มทำงานร่วมกับ สวทช. มากขึ้น โปรเจคแรกเลย คือ เริ่มขอรับรองกิจการ New S-Curve ทางบริษัทฯ น่าจะเป็นรายแรกที่ได้รับอนุมัติเรื่อง smart grid กับ smart meter เพื่อขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากร จากนั้นก็ได้ขอทุนจาก ITAP และ pitching ทุนจากหน่วยงานให้ทุนอื่นๆ เพื่อมาเพิ่มความสามารถของอุปกรณ์ของเราในเวอร์ชั่นที่ 2 ซึ่งสามารถวัดได้ทั้งปริมาณไฟฟ้าและคุณภาพไฟฟ้า จนมาถึงปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่นที่ 3 คือ สามารถปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าได้เลย
ตู้เก็บวัคซีนโควิด
Core technology ของบริษัท คือ monitoring สามารถดัดแปลงไปใช้ในด้านอื่นๆ ได้มากมาย เช่น วัดอุณหภูมิ วัดความชื้น วัดแสง เป็นต้น พอเราทำฮาร์ดแวร์ตรงนี้มา มันก็สามารถนำเอาส่วนนี้ไปทำ solutions อะไรก็ได้ เช่น เมื่อตอนโควิดทางบริษัทได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทำตู้เก็บวัคซีนโควิดแจกตามโรงพยาบาล 76 จังหวัด โดยบริษัทฯ ทำระบบมอนิเตอร์อุณหภูมิและความชื้นของตู้เก็บวัคซีนโควิด สามารถแจ้งเตือนความผิดปกติ และ สวทช. มาช่วยเป็นที่ปรึกษาและทดสอบผลิตภัณฑ์ ทำให้ product มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ก็เลยทำให้นึกไปถึงผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่อยู่ใน อวท. ถ้าได้มีโอกาสเอางานวิจัยไปร่วมกับงานวิจัยของ สวทช. หรือภาครัฐอื่นๆ ได้ มันจะทำให้เค้าไปต่อได้ง่ายและเร็วขึ้น
เมื่อเราได้ทำตัววัดอุณหภูมิตู้เก็บวัคซีนแล้วพบว่าประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐาน มอก. ทางสภาอุตสาหกรรมฯ สวทช. และอีกหลายหน่วยงานได้มาช่วยกันร่างมาตรฐาน มอก. และผลักดันจนตอนนี้ประกาศใช้แล้ว จากนั้นก็ต้องเดินสายให้ข้อมูลกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขให้ทราบถึงมาตรฐานดังกล่าว เพื่อที่ว่าหากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่จำเป็นต้องเก็บวัคซีน ควรจัดซื้อตู้เก็บวัคซีนที่ได้มาตรฐาน มอก. และเราเลยเตรียมจะยื่นขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อให้เรามีโอกาสขายให้กับโรงพยาบาลรัฐอีกทางหนึ่ง
“ตอนแรกไม่ได้คาดหวังอะไรเลยค่ะ ก็คิดแค่ว่าดีที่ได้สิทธิประโยชน์ทาง BOI เพิ่มแค่นั้น ได้บรรยากาศที่น่าทำวิจัยก็โอเคแล้ว พอเข้ามาอยู่แล้วก็ได้เห็น สัมผัสและมองถึงโอกาสหลายๆ อย่าง เช่น โอกาสการใช้บริการต่างๆ ของ สวทช. การวิเคราะห์ทดสอบบางอย่างที่มีที่นี่ที่เดียว หรือแม้แต่โอกาสการได้ทำงานร่วมกับนักวิจัย เรียกได้ว่าเราอยู่นี่มา 5-6 ปีแล้ว แนวโน้มธุรกิจก็ไปในทิศทางที่ดีขึ้น บริษัทมีฐานงานวิจัยที่แข็งแรงขึ้น เราเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเรา เรียกได้ว่า “เราไม่เคยหยุดพัฒนาเลยค่ะ”
ล่าสุด monitor เครื่องวัดอุณหภูมิ ตอนนี้เราสามารถรีโมทไปเซ็ตได้เลย เวลาเครื่องมีปัญหาเราก็ไม่ต้องส่งคนไปเซอร์วิสที่ไซต์งาน เรารีโมทไปให้เดี๋ยวนั้นเลย แต่ถ้าไม่ได้ก็ส่งเครื่องใหม่ไปเปลี่ยนให้เลย รวมถึงพวกฮาร์ดแวร์อย่างอื่นเกี่ยวกับ monitoring เราก็พัฒนาให้มันเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ง่ายขึ้น user ไม่ต้องยุ่งยาก ตอนนี้เราสนใจที่จะนำ AI มาประยุกต์ใช้กับการวัดประสิทธิภาพในการวัดพลังงานและเครื่องจักร รวมถึงเรื่อง data analytics มาวิเคราะห์ข้อมูลพลังงาน เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้พลังงานได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ในอีกบทบาทหนึ่งของสาวแกร่งของเรายังได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก อวท. คัดเลือกให้รับหน้าที่ “ประธานชมรมผู้เช่าอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย” เพื่อร่วมกันพัฒนาเครือข่ายผู้เช่าใน อวท. ให้มีความเข้มแข็ง ผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างสมาชิกใน อวท.
Khun_Jariya_image_2
“รู้สึกภูมิใจมากที่เพื่อนสมาชิกเห็นถึงความมุ่งมั่นของเรา เรามีเจตนาแค่ว่าอยากให้เกิดสังคมแบบเพื่อนช่วยเพื่อน บริษัทที่อยู่ใน อวท. มีหลากหลาย ตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงบริษัทข้ามชาติ การให้ทุกคนมามีส่วนร่วมกันคงเป็นไปได้ยาก สิ่งที่อยากเห็นก็คือ อยากให้บริษัทที่อยู่ในนี้มีการเติบโตและเข้าถึงกลไกต่างๆ จากรัฐได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราอยู่ที่นี่นานจนเราคิดว่าเป็นบ้านของเราไปแล้ว เลยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีขึ้น อยากให้ที่นี่เป็น living lab เป็นโมเดลนวัตกรรมที่ใครๆ ก็ต้องมาดู นึกถึงนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์อะไรที่ไม่เคยมีมาก่อนต้องมาที่ อวท.” คุณจริยวดี กล่าวทิ้งท้ายถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจ
สนใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งหรือใช้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ติดต่อที่ CONNEX: ศูนย์เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจ
โทร. 0-2564-7200 ต่อ 71950 หรือ connex@nstda.or.th