Testimonials


Lion

Khun_Jariya_image
คุณชูชีพ อภิรักษ์ ผู้จัดการส่วนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่าบริษัทฯ เริ่มเปิดดำเนินการปี พ.ศ. 2512 โดยแรกเริ่มเป็นผู้ผลิตผงซักฟอกเพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองว่าไลอ้อนจะทำสินค้าอยู่แต่ในโรงงานอีกต่อไปไม่ได้ เราไม่อยากอยู่ในสงครามการแข่งขันกันด้วยราคา แต่อยากลดการพึ่งพาต่างชาติ
ด้วยประสบการณ์การทำงานกว่า 28 ปี ที่ได้เรียนรู้และเข้าใจการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัย คุณชูชีพจึงเป็นเหมือนนักประสานงานและแสวงหาโอกาส เพื่อให้เกิดงานวิจัยในสินค้า โดยจะเริ่มต้นเข้าไปพูดคุยและทำความรู้จักกับพันธมิตรก่อน หากมีแนวคิดตรงกัน ก็พร้อมจะเปิดใจทำงานร่วมกัน จากนั้นก็จะดูว่าแต่ละหน่วยงานมีความถนัดอะไร เพราะทุกหน่วยงานรัฐจะมีความเก่งที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในผลิตภัณฑ์ที่เป็น “สมุนไพร” เราทำงานร่วมกันถึง 4 หน่วยงาน อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
วิธีการทำงานร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานไม่ยาก เราต้องเรียนรู้และแยกแยะความแตกต่างของแต่ละหน่วยงาน อย่างเช่น มจธ. มีข้อได้เปรียบตรงที่มีนักศึกษาต้องทำ Thesis เราก็ให้เอาตรงนี้มาเขียนเป็น Proposal เพื่อให้ได้ทำจริง ซึ่งนักศึกษาก็ได้งบสนับสนุนด้วย พอได้ผลของงานวิจัยนี้ในเบื้องต้น ก็พอจะเห็นทิศทางความเป็นไปได้ แล้วนำมาขยายผลต่อ โดยการทำ “scale down” ดูความเป็นไปได้ก่อนที่จะ “scale up” เราได้พันธมิตรอย่างกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งตั้งอยู่ใน อวท. ที่จะช่วยเราศึกษาความเป็นไปได้ในเชิง commercialize ที่จะให้คำแนะนำว่าสารสกัดแต่ละตัวมันจะใช้เครื่องมืออะไร สกัดแบบไหน งานวิจัยนี้จะไปต่อได้หรือไม่ ต่อจากนั้นก็ต้องดูเรื่องของสารในสมุนไพรที่สกัด ซึ่งเราก็ให้ วว. ช่วยทดสอบตามมาตรฐาน การทำงานก็จะเกิดการ sharing ระหว่างนักวิจัยแต่ละหน่วยงาน เราเองก็ได้ความรู้ไปด้วย
การทำงานด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างแรกที่ต้องมี คือ multi skills เวลาใครเรียกให้ไปช่วยงานอะไร ก็จะมองว่าเป็นโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมและเรียนรู้งานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเนื้องานของเราเอง พอได้เป็น Project manager เราก็ได้นำทักษะในการประสานงานแต่ละหน่วยงานมาใช้ ส่วน connection ก็ทยอยมาตั้งแต่ตอนที่เราไปช่วยงานคนอื่น เราจะมานั่งทำ lab ทั้งวันไม่ได้ แต่ต้องเอาตัวเองไปพบปะผู้คนในหลากหลายแวดวงด้วย
ย้อนกลับไป 7 ปีที่แล้ว ผู้บริหารไลอ้อนมีวิสัยทัศน์ในการทำงานว่า “เราทำคนเดียวจะช้า การแข่งขันในตลาดก็สูงขึ้น เราต้องมีสินค้าที่มีความแตกต่างและต้องเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ได้เร็ว” ท่านก็บอกเลยว่าให้มาตั้งศูนย์ R&D ที่นี่ โดยไม่ได้มองเน้นไปทางนวัตกรรมมาก แต่เน้นที่ความเร็ว อะไรไม่ถนัดไม่ต้องทำ ให้มองหาความร่วมมือกับพันธมิตรเป็นหลัก
ผมมองว่าที่ อวท. มียุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ เราใช้ อวท. เป็นเซ็นเตอร์ ถือเป็น “ระบบนิเวศทางปัญญา” เราจะไปไหนก็ง่าย ไม่ว่าจะเป็นซินโครตรอน วว. ศูนย์วิจัยยาก็อยู่ตรง ม.ธรรมศาสตร์ มีเอกชนอยู่รวมกันเยอะ ยังมีนิคมอุตสาหกรรมรอบๆ และมีโรงงานรับจ้างผลิตอาหารเสริม พอเราอยากลองตลาดอาหารเสริม แต่เราไม่อยากผลิตเยอะ เราก็เลือกใช้ที่นี่ เรียกได้ว่ามีโรงงานเล็กๆ ล้อมรอบ อวท.
เราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ มันมีความหลากหลาย ซึ่งความหลากหลายตรงนี้มันก็มาเพิ่มโอกาส เราจะได้นึกภาพ มองภาพออกว่าจะเอาอะไรมา match อะไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่บริษัทเครื่องสำอาง วันๆ เราก็เห็นแต่เครื่องสำอาง เราก็ไม่เห็นว่าคนอื่นเค้าทำอะไรกัน บางทีมันก็ไม่ตื่นตัว
“ผมอยากจะบอกว่าถ้าบริษัทได้เข้ามาอยู่ที่ อวท. นี้แล้ว อย่าคิดแค่จะมาเพื่อทำ lab อย่างเดียว เปลี่ยนเป็นมองหาคนมาช่วยเราทำดีกว่า ทำ lab ให้น้อยลง ที่เหลือเรากระจายให้หน่วยงานอื่น ๆ มาช่วย งานก็จะเสร็จเร็วกว่าเราทำเองแน่นอนครับ ถ้ามาอยู่ใน อวท. เพื่อทำ lab อย่างเดียวผมว่าไม่คุ้มและเสียโอกาสมากเลย”
สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคต ผมมองเหมือนกับหลายๆ อุตสาหกรรม คือ sustainability เราเน้น “ชุมชน สิ่งแวดล้อม และบริษัท” อยู่ร่วมกันได้ เราถึงหันมาพัฒนาและช่วยเหลือชุมชน มองหาพวกสมุนไพรไทยมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของเรา ชุมชนขาดอะไรที่เราช่วยส่งเสริมเค้าได้ เราก็ยินดีช่วย สุดท้ายเค้าก็จะมีความผูกพันกับองค์กรของเรา เมื่อเราเลือกช่วยพัฒนาชุมชน เค้าก็เลือกที่จะใช้ของของเรา มันก็เป็นสังคมที่เกื้อหนุนกัน มันคือ “ความยั่งยืน”
นอกจากการมาตั้งศูนย์ R&D ที่ อวท. แล้ว บริษัทฯ ยังใช้บริการในด้านอื่นๆ ของ สวทช. เช่น การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย และการขอลดหย่อนภาษี 200% สำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนา เป็นต้น โดยเฉพาะการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยทำให้ผลิตภัณฑ์ของไลอ้อนสามารถขายในกลุ่ม niche อย่างโรงพยาบาลได้ในราคาที่เราก็เป็นผู้กำหนดเอง ไม่ต้องอิงกับราคาสินค้าในท้องตลาดมากจนเกินไป อันนี้ตอบโจทย์การขายในแบบ B2B ก็จะต่างกับการทำสินค้ามาเพื่อขายผู้บริโภคตรง ถือว่าเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนเอกชนได้เป็นอย่างดี
ดาวน์โหลดเอกสาร (คลิก)
สนใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งหรือใช้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ติดต่อที่ CONNEX: ศูนย์เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจ
โทร. 0-2564-7200 ต่อ 71950 หรือ connex@nstda.or.th