บริษัท เอฟ ดี ไอ แอคเคาน์ติ้ง แอนด์ แอดไวซอรี่ จำกัด หนึ่งในสมาชิกของ อวท. ที่ร่วมงานกันมาอย่างเหนียวแน่น โดยได้รับเกียรติจาก 2 ผู้บริหารสาวเก่งที่จะมาทำความรู้จักกับบริษัทฯ มากขึ้น นำโดยคุณพัชราภรณ์ เวชวิทยาขลัง ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท FDI และคุณนันทพัชร ณ สงขลา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาองค์กรและผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท FDI
Testimonials
FDI Group
คุณพัชราภรณ์ แนะนำ “FDI Group” ประกอบด้วย 5 บริษัทในเครือที่อยู่ในประเทศไทย นำทัพโดย บริษัท เอฟ ดี ไอ แอคเคาน์ติ้ง แอนด์ แอดไวซอรี่ จำกัด เราเป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติญี่ปุ่น-ไทย โดยบริษัทแรกที่ก่อตั้ง คือ เมื่อปี พ.ศ. 2538 คือบริษัท เอฟดีไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยตลอด 29 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท เอฟ ดี ไอ ให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางด้านการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศที่มาประกอบธุรกิจในไทย ตั้งแต่การจดจัดตั้งกิจการ วางระบบการบริหารงาน ครอบคลุมทั้งบริการด้านบัญชี การจัดการภาษี จัดทำเงินเดือน ให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล จัดหาบุคลากรและการขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินธุรกิจต่างๆ บริการขอวีซ่า และใบอนุญาตการทำงานในประเทศไทย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขอ BOI ดูแลจัดการเรื่องการจัดการศุลกากร การก่อสร้างโรงงาน ตลอดจนธุรกิจใหม่ของทาง กลุ่ม บริษัท เอฟ ดี ไอ คือบริการให้คำปรึกษาด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ทั้งด้านการประเมิน การฝึกอบรม และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต
จะเห็นได้ว่าบริการของเราค่อนข้างหลากหลายและครอบคลุมด้วยทีมงานมืออาชีพจากหลากหลายวิชาชีพที่มารวมตัวอยู่ด้วยกัน ส่งผลให้ลูกค้าของเราจะค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ให้บริการและสถาบันการศึกษาเอกชน ตามประเภทงานบริการที่ให้บริการ ก่อนหน้าที่จะมาเปิดสาขาใน อวท. ลูกค้าของ FDI จะเป็นบริษัทจากญี่ปุ่นถึง 95% ส่วนที่เหลือจะเป็นลูกค้าจากสิงคโปร์ มาเลเซียและไต้หวัน แต่พอมาอยู่ใน อวท. ในเวลาไม่ถึง 1 ปี ก็ช่วยให้ FDI ขยายฐานลูกค้าในกลุ่มประเทศที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราสามารถขยายศักยภาพไปในประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝั่งอเมริกา หรือประเทศในแถบยุโรป และลูกค้าสัญชาติไทยด้วย
ทำไม FDI ถึงมาเปิดสาขาที่ อวท.
คุณพัชราภรณ์ เล่าย้อนเวลากลับไป FDI ได้เข้าไปนำเสนอบริษัทกับ CFA (Career for the Future Academy) สวทช. เรื่องการฝึกอบรมให้กับลูกค้าของ FDI และได้รับคำแนะนำให้มาติดต่อกับทาง อวท. พอเราได้พูดคุยกัน ก็มองว่าที่นี่จะช่วยขยายศักยภาพของ FDI ได้ และตัว FDI เองก็สามารถรองรับและสนับสนุนนักลงทุนทั้งที่กำลังจะมาลงทุนที่อยู่ภายใน อวท. ได้ด้วย จึงทำให้ตัดสินใจมาเปิด FDI ที่นี่ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2566 และได้เริ่มเปิดดำเนินการใน อีก 1 เดือนต่อมา ต้องบอกว่าตอนแรก partner ญี่ปุ่นไม่เข้าใจว่า FDI จะเข้ามาทำอะไรที่นี่ แต่พวกเราที่เป็นทีมทำงานคนไทย มองเห็นศักยภาพของพื้นที่และทีมงานเจ้าหน้าที่ต่างๆ ของ อวท. พร้อมทั้งในส่วน ecosystem ต่างๆ ใน อวท. จะเข้ามาช่วยสนับสนุน ไม่ใช่แค่กับ FDI Group เอง แต่ยังช่วยสนับสนุนบริษัททั้งในและต่างประเทศได้อีกด้วย โดยภาพรวมที่เราเห็นทั้งหมดมันไม่ใช่แค่พื้นที่เช่าค่ะ แต่มาพร้อม connection และโอกาสทางธุรกิจอีกมากมาย
คุณนันทพัชร เสริมว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ partner ญี่ปุ่นมั่นใจมากขึ้น คือ การได้เข้ามาจัดสัมมนาในหัวข้อ “การบริหารจัดการภาษีคาร์บอนให้เป็นผลกำไร” เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 โดยงานที่จัดนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง FDI กับ อวท. และหน่วยงานพันธมิตร ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างจริงจังมาก และมี feedback ที่ดีกลับมา ทั้งในเรื่องของภาพลักษณ์ พันธมิตรที่เหนียวแน่นขึ้นและลูกค้าที่ให้เสียงตอบรับดีมาก เลยทำให้ข้อกังวลใจของทางผู้บริหารญี่ปุ่นที่เคยมีหมดไป รวมถึงที่เกือบ 1 ปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ อวท. มากขึ้น ในหลากหลายแง่มุม โดยทาง FDI ได้รับโอกาสในการแสดงศักยภาพบนเวทีต่าง ๆ จากทาง อวท. เช่น งานสัมมนาการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่ CLMV , งานสัมมนาเมื่อเร็วๆ เราก็ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในเวทีสัมมนา Net Zero ในงาน อว.แฟร์ 4 ภูมิภาค ก็ทำให้คน FDI เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นด้วย
แนวโน้มหรือเทรนด์เทคโนโลยีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของท่าน
คุณพัชราภรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้เรามีแนวคิดที่จะขยายและต่อยอดธุรกิจการจัดการด้านคาร์บอนก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ซึ่ง FDI เองกำลังเริ่มมองหานวัตกรรมจากนักวิจัย สวทช. รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ Green Technology เพื่อมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมของ FDI เอง
คุณนันทพัชร ย้ำว่า FDI เพิ่งเปิดตัวว่าเป็นที่ปรึกษาเรื่องการจัดการก๊าซเรือนกระจกและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือการจัดทำโครงการคาร์บอนเครดิต แต่ปีหน้าที่วางไว้ คือ เราจะช่วย set โครงการ net zero ให้กับลูกค้าว่าเค้าจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง ทำ pathway ให้กับลูกค้า ดังนั้นในปีหน้าเราจะผลักดันการทำ carbon neutrality มองหานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมา serve อย่างจริงจัง ปีหน้าการทำงานจะเข้มข้นมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่บริการที่ปรึกษา แต่จะมีนวัตกรรม ซึ่งอาจจะเป็นนวัตกรรมที่มาจาก สวทช. ที่จะเข้ามาช่วยเสริมทัพ นอกเหนือจากนั้นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากที่เราคงไม่ทิ้งไปเพราะคือรากเหง้าของ FDI Group ก็คือ เราเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำให้กับลูกค้าครอบคลุมทุกมิติของธุรกิจ ดังนั้นเราก็จะมีพาร์ทที่ต้องให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาโปรดักส์และวัตถุดิบ หรือกระบวนการผลิตให้กับเขาเพื่อให้เขาอยู่แข่งขันในตลาดได้ และตรงนี้ก็สำคัญมากที่ต้องมี สมาชิก อวท.ในสายงานเทคโนโลยีต่างๆ และทีมงาน นักวิจัยของสวทช.คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังค่ะ
ประโยชน์หรือข้อดีของการมาอยู่ใน อวท.
คุณพัชราภรณ์ กล่าวว่า สวทช. ถือเป็นเบอร์ 1 ของงานด้านวิจัยและพัฒนา พอเราได้มาทำงาน ก็จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ FDI ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น ไม่ลังเลที่จะเซนต์สัญญา เพราะเห็นว่า FDI ทำงานร่วมกันกับ สวทช. อย่างจริงจังได้ดีแน่นอน การทำงานกับ สวทช. เป็นการงานร่วมกันที่สะดวกและรวดเร็ว ที่เด่นๆ เลยคือเรื่อง service mind ของเจ้าหน้าที่ อวท. จนนึกแปลกใจอยู่เหมือนกันว่า สวทช. เป็นราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนกันแน่....?
คุณนันทพัชร เสริมว่าทีแรกก็ค่อนข้างกังวลว่า สวทช. จะเหมือนหน่วยราชการอื่นๆหรือไม่ ที่เราอาจต้องเผื่อใจในความล่าช้าของระบบหรืออาจมีบางครั้งที่จะไม่สามารถประสานงานเร่งด่วนได้ แต่พอมาทำงานด้วยแล้ว สวทช. ทำงานเหมือนเอกชนมากค่ะ ทำให้การทำงานร่วมกันง่ายและคล่องตัวมาก เป็นเรื่องดีที่อยากให้ สวทช. รักษาข้อดีนี้ไว้
ที่สำคัญการที่เรามีสาขาย่อยที่ อวท. เราก็จะรู้อะไรได้ไว สามารถ connect ให้กับลูกค้าได้เร็วขึ้น อะไรเกิดขึ้นใหม่ๆ ที่นี่เรารู้ก่อน ซึ่งตรงนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ดีมาก ตัวอย่างเช่นมีลูกค้าที่มาร่วมงาน SMC Open House เมื่อเดือนธันวาคม 2566 พอเราส่งใบเสนอราคาไปแล้ว ลูกค้ายังไม่ตัดสินใจ แต่หลังจากนั้นลูกค้าได้มาร่วมงานสัมมนา “การบริหารจัดการภาษีคาร์บอนให้เป็นผลกำไร” เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมาอีก พอจบงานแล้วก็ตัดสินใจเซนต์สัญญาเลย ยิ่งตอกย้ำว่า FDI ไม่ได้แค่ขอชื่อ สวทช. มาโปรโมท แต่เรามีการทำงานร่วมกันจริงๆ นี่คือสิ่งที่ FDI ได้ประโยชน์อย่างชัดเจน
สิ่งที่อยากได้หรืออยากบอกกับ อวท.
คุณนันทพัชร บอกว่า FDI ต้องการพันธมิตรเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยกันขยายและต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทผู้เช่าใน อวท. มีหลากหลายประเภท แต่เรายังไปไม่ถึงอีกหลายราย นอกจากนี้ อยากให้ สวทช. จัดตั้งศูนย์ Connex ในเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อกับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนมากยิ่งขึ้น และ/หรืออาจจะมีบริการรับ-ส่งมาที่ อวท. ก็จะช่วยให้การเจรจาทางธุรกิจแบบตัวต่อตัวดีกว่าการเจอกันในแบบออนไลน์หรือต้องใช้เวลาเดินทางมาที่ อวท. รังสิตด้วยตนเองสำหรับนักลงทุน
อยากขอบคุณ อวท. ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของเรา เพราะที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากลูกค้าที่ทาง อวท. ไปสร้าง connection ที่ต่างประเทศไว้ เหมือนกับเป็น BD ให้กับทาง FDI และเราก็รับมาดูแลต่อจนจบ มันดีมากๆ เลยค่ะ ดูได้จากผลประกอบการที่ผ่านมา อวท. ได้สร้าง Impact ให้กับ FDI มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาทภายในเวลาไม่ถึงปี
ในอนาคตเราจะไม่เป็นแค่ consult ที่ให้ข้อมูล จัดทำเอกสาร ดำเนินการต่างๆ หรือขึ้นทะเบียนให้กับลูกค้าเท่านั้น แต่จะต้องมองภาพกว้างให้กับลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของผลักดันการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ งานวิจัยและนวัตกรรมที่ทาง สวทช. มีอยู่ด้วย
คุณพัชราภรณ์ สนับสนุนแนวคิดการตั้งศูนย์ Connex ในเมือง เพื่อให้เกิด easy to connect, friendly to connect ที่จะช่วยตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการเข้าถึงบริการของ อวท. ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ในมุมของผู้ประกอบการก็อยากเสนอให้หน่วยงานรัฐมีทุนสนับสนุนมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่อง know how แต่อาจจะยังขาดปัจจัยด้านเงินทุนที่จะมารองรับ business ดังนั้นถ้าภาครัฐมีทุนสนับสนุนก็จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามเป้าได้ง่ายขึ้นด้วย
คุณนันทพัชร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า จุดแข็งของการเป็นสมาชิก อวท. คือ การได้พันธมิตรที่ดี คุณมาทำธุรกิจที่นี่ คุณมีเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะบริษัทผู้เช่าซึ่งเหมือนเป็นเพื่อนร่วมทำธุรกิจ เวลาที่เจอปัญหาอะไรมาปรึกษาพูดคุยกัน เป็นเหมือน Hub ไม่ได้ทำธุรกิจแบบตัวคนเดียว แต่ support กันและกัน แต่ถ้าเราทำธุรกิจข้างนอก ก็จะมีบรรยากาศแบบตัวใครตัวมัน feel lonely แต่ที่ อวท. จะมีความอบอุ่นมากกว่า
สนใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งหรือใช้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ติดต่อที่ CONNEX: ศูนย์เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจ
โทร. 0-2564-7200 ต่อ 71950 หรือ connex@nstda.or.th