News & Activities


10 ตุลาคม 2560

บอร์ดบีโอไอส่งเสริม “การเกษตรสมัยใหม่” พร้อมส่งเสริมให้เพิ่มขีดแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม-การเกษตร

          บอร์ดบีโอไอสนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรก้าวสู่ “อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่” โดยเปิดประเภทกิจการให้ส่งเสริม คือ “กิจการผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่” พร้อมส่งเสริมให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่าที่ประชุมเห็นชอบนโยบายสำาคัญหลายเรื่องภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ได้แก่

          1. นโยบายยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่ประชุมเห็นชอบให้เปิดให้การส่งเสริมกิจการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยคือธุรกิจที่นำเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการออกแบบทางวิศวกรรมมาปรับเปลี่ยนการผลิตภาคเกษตรดั้งเดิมให้ทันสมัยขึ้น เช่น ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ระบบการควบคุมการใช้ทรัพยากร เช่น น้ำ ปุ๋ย และระบบตรวจจับหรือติดตามสภาพต่างๆโดยผู้ให้บริการด้านนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี

          นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคการเกษตรรายเดิมยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากลที่ประเทศไทยมีผู้ได้รับการรับรองน้อย เช่น มาตรฐานการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร (ISO22000) เป็นต้น เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลและสามารถขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้น โดยจะให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปีในวงเงินไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนที่ใช้ในการยกระดับมาตรฐาน โดยกำหนดให้ยื่นคำขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2563

          2. นโยบายสนับสนุนการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติสำหรับผู้ประกอบการรายเดิมหรือผู้ลงทุนใหม่ที่มีการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในวงเงินไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนและเพื่อให้เป็นการสนับสนุนการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ในประเทศหากมีการใช้ของในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมดก็จะได้รับสิทธิเพิ่มจากเดิมจำกัดไม่เกินร้อยละ 50 มาเป็นไม่เกินร้อยละ100
          ทั้งนี้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพข้างต้น รวมถึงมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การวิจัยพัฒนากำหนดให้ยื่นคำขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2563

          นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติม โดยให้กิจการในกลุ่ม A1 และ A2 ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการหากมีการลงทุนเพิ่มในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งขยายขอบเขตกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งในปัจจุบันใช้ชื่อกิจการ “สถานฝึกฝนวิชาชีพ” ให้เปลี่ยนเป็น “กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งจะครอบคลุมเทรนนิ่งเซ็นเตอร์และสถาบันการศึกษาภาคเอกชนด้วย

แหล่งที่มา : http://www.boi.go.th