News & Activities


23 กุมภาพันธ์ 2560

เวทโปรดักส์ กรุ๊ป ทุ่มงบกว่า 40 ล้านบาท ตั้งศูนย์ R&D ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หวังต่อยอดงานวิจัย สวทช. เพิ่มส่วนแบ่งตลาด 15% ธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์

เวทโปรดักส์ กรุ๊ป ทุ่มงบกว่า 40 ล้านบาท ตั้งศูนย์ R&D ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หวังต่อยอดงานวิจัย สวทช. เพิ่มส่วนแบ่งตลาด 15% ธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์

          เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) ตลอดจนคณะผู้บริหาร สวทช. และคณะผู้บริหาร เวทโปรดักส์ กรุ๊ป ร่วมเปิดศูนย์ “เวทโปรดักส์ รีเซิร์ซ แอนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์” พร้อมลงนามความร่วมมือวิจัยพัฒนาระหว่างเวทโปรดักส์ กับ สวทช. และนาโนเทค ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี เพื่อเดินหน้างานวิจัยด้านเวชภัณฑ์สัตว์เต็มสูบ ประเดิมต่อยอดงานวิจัยนาโนเทค ‘เทคโนโลยีระบบการนำส่งมาใช้ในกลุ่มยาปฏิชีวนะ’ มุ่งลดการดื้อยาในมนุษย์ ตั้งเป้าปีแรกเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด 15% ในธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
 

นายสัตวแพทย์ธานินทร์ ชีวะผลาบูรณ์

นายสัตวแพทย์ธานินทร์ ชีวะผลาบูรณ์ กรรมการบริหารในเครือเวทโปรดักส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีความสนใจปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะในมนุษย์ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ด้วยปัญหาดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้ทำการร่วมวิจัยกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. โดยการใช้เทคโนโลยีระบบการนำส่งมาใช้ในกลุ่มยาปฏิชีวนะของบริษัท เพื่อพัฒนารูปแบบ เพิ่มการดูดซึมที่มีประสิทธิภาพในสัตว์ และลดปริมาณการใช้ยา งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่สำคัญมากที่จะช่วยลดการสูญเสียจากภาวะการดื้อยาในคน เหตุนี้บริษัทฯ จึงตัดสินใจทุ่มงบกว่า 40 ล้านบาท เพื่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในนาม Vet Products Research and Innovation Center (VRI) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) ปทุมธานี การตัดสินใจเลือกตั้ง R&D Center ที่นี่เพราะประเด็นแรก ต้องการให้ทีมวิจัยของบริษัทฯ ได้ทำงานใกล้ชิดกับนักวิจัยของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นอย่างมาก ประเด็นที่สอง คือ อวท. มีอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC 2) ซึ่งเป็นอาคารที่ทันสมัยออกแบบมาเพื่อทำวิจัยพัฒนาโดยเฉพาะ มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการจัดการในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานวิจัยที่ครบครัน ทำให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนในส่วนนี้ไปได้มาก ประเด็นสุดท้าย คือ เรามีเพื่อนบ้านอีกกว่า 70 บริษัท ที่เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยในนี้ ซึ่งมีหลายบริษัทที่น่าสนใจและคิดว่าในอนาคตน่าจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน

          “สำหรับแผนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต ทางศูนย์วิจัย VRI กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำงานวิจัยร่วมกับไบโอเทค สวทช. ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดภาวะการดื้อยาในคนที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน และไม่ใช่แต่การทำงานวิจัยกับทาง สวทช. เท่านั้น ศูนย์วิจัย VRI ยังมีการร่วมมือกับ สถาบันศึกษาชั้นนำต่างๆ เพื่อผลักดันการวิจัยและนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ให้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ภายใต้งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการร่วมมือกับสถาบันชั้นนำนั้น ทางศูนย์วิจัย VRI ได้ตั้งเป้าหมายในการเติบโตของธุรกิจทางด้านเวชภัณฑ์สัตว์ปีนี้อยู่ที่ประมาณ 15% ของส่วนแบ่งทางการตลาด โดยปัจจุบันส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศทางด้านธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ มีมูลค่าอยู่ที่ 33,000 ล้านบาท” นายสัตวแพทย์ธานินทร์ กล่าว
 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนา และนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการ สังคม และประชาชน ต่อยอดสู่การใช้เชิงพาณิชย์ของภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังให้การสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการทำวิจัยและให้คำปรึกษาแนะนำทั้งด้านการวิเคราะห์ ทดสอบ และอื่นๆ เช่น ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ นอกจากนี้ส่วนของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ยังส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน ในการสร้างความสามารถด้านการแข่งขัน และก้าวทันกระแสของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เสริมสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและวิจัย กับภาคการผลิต รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตด้วยกันเอง ทั้งนี้ ยังเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และแก้ไขจุดอ่อนที่เป็นอยู่
         สำหรับการร่วมงานกับบริษัท เวทโปรดักส์ กรุ๊ป ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ สวทช. ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานวิจัย พัฒนา วิเคราะห์และทดสอบ บุคลากร เพื่อส่งเสริมและต่อยอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร ปศุสัตว์ เวชภัณฑ์สัตว์ อาหารเสริมและโรงพยาบาลสัตว์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีประสิทธิภาพเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังเป็นเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ทางวิชาการอีกด้วย ซึ่งเป้าหมายหนึ่งของนโยบายในส่วนของคลัสเตอร์อาหาร อันจะนำไปสู่การสร้างและผลักดันผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์และนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์และผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะสามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว