News & Activities


7 ตุลาคม 2559

เฮเดล จากอังกฤษ เลือกตั้งศูนย์วิจัยกราฟีนแห่งแรกในเอเชีย ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มุ่งวิจัยต่อยอดวัสดุกราฟีน รองรับตลาดอุตสาหกรรมในภูมิภาค

เฮเดล จากอังกฤษ เลือกตั้งศูนย์วิจัยกราฟีนแห่งแรกในเอเชีย ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มุ่งวิจัยต่อยอดวัสดุกราฟีน รองรับตลาดอุตสาหกรรมในภูมิภาค

          เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยร่วมกับบริษัท Haydale Graphene Industries จากประเทศอังกฤษ ลงนามในการเช่าพื้นที่เพื่อจัดตั้ง Haydale Technologies (Thailand): HTT ศูนย์วิจัยกราฟีนแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ด้วยเชื่อมั่นในความพร้อมของบุคลากรวิจัย เครื่องมือต่างๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนา โดยมี ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และ Mr. Ray Gibbs, CEO of Haydale Graphene Industries Public Limited Company ร่วมลงนามดังกล่าว ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับกราฟีนและเสวนาให้ความรู้เรื่อง “เทคโนโลยีวัสดุกราฟีนกับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในอนาคต” อีกด้วย
 

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา

          ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์     ประเทศไทย กล่าวว่าการที่ Haydale บริษัทจดทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์ของ London Stock Exchange เลือกตั้งศูนย์วิจัยในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และจะทำงานร่วมกับศูนย์ TOPIC และสวทช.ซึ่งมีความพร้อมในด้านทีมวิจัยรวมไปถึง เครื่องมือวิจัยขั้นสูง การมีศูนย์ HTT ในประเทศไทยนับเป็นเรื่องน่ายินดีมาก เพราะนักวิจัยไทยจะได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยชั้นนำจากต่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นใน  ประเทศไทย เป็นการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นในอนาคตและแน่นอนว่าจะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลต่อไป

 

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล

            ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า  กราฟีนเป็น “วัสดุมหัศจรรย์” สวทช. มองเห็นโอกาสและความสำคัญของกราฟีนมาตั้งแต่ตอนที่มีการค้นพบ จึงได้เริ่มทำวิจัยและพัฒนาเพื่อนำกราฟีนไปใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ มากว่า 5 ปีแล้ว และบางส่วนได้เริ่มมีการส่งต่อเทคโนโลยีให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เช่น การสังเคราะห์กราฟีนด้วย  เทคนิคเคมีไฟฟ้าเพื่อผลิตหมึกพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ตได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก โดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค
 

         นอกจากการนำไฟฟ้าที่ดีแล้วกราฟีนยังสามารถนำไปผสมเป็นวัสดุคอมโพสิตที่มีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรงสูงหรือคุณสมบัติการนำความร้อนที่ดีของกราฟีนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของของหลอดไฟส่องสว่างแบบ LED ได้อย่างมาก ความบางและการโค้งงอได้ของกราฟีนก็มีการนำไปผลิตเป็นจอภาพโค้งแบบ OLED ในเชิงพาณิชย์แล้ว และยังมีงานวิจัยอื่นๆ อีกมากที่เป็นที่สนใจของแวดวงการวิจัยและพัฒนาทั่วโลก เช่น งานวิจัยทางด้าน Supercapacitor ที่หากสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาการประจุไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้าจากที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเป็นภายในเวลาไม่กี่วินาที หรือเสื้อผ้าอัจฉริยะ Smart Textiles” ที่ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์ตรวจวัดสุขภาพของผู้สวมใส่ สามารถส่งข้อมูลให้แพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคแบบอัตโนมัติและสามารถปรับอุณหภูมิเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย

          ปัจจุบัน สวทช.ได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ หรือ TOPIC ที่ชั้น 5 อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานวิจัยภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมที่มีความสนใจในการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานกราฟีนสำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยทางศูนย์ฯ มีห้องปฏิบัติการและเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงรวมถึงทีมงานวิจัยที่พร้อมสำหรับการวิจัยประยุกต์ทั้งทางเคมี ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และทางชีวภาพ
 

นายเรย์ กิบบ์ส

          ด้าน นายเรย์ กิบบ์ส (Mr. Ray Gibbs), CEO of Haydale Graphene Industries Public Limited Company กล่าวว่า Haydale เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอังกฤษที่มีมูลค่าตลาด 30 ล้านยูโร(ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2559)โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านกราฟีนมาแต่เริ่มแรกและต่อยอดไปยังวัสดุนาโนอื่นๆ ด้วยความมุ่งมั่นในการขยายตลาดสู่ภูมิภาคเอเชียเพื่อรองรับอุตลาหกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีวัสดุกราฟีนทำให้เป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง Haydale และอุทยานวิทยาศาสตร์  ประเทศไทยในการจัดตั้งศูนย์วิจัยกราฟีน Haydale Technologies  (Thailand) หรือ HTT ขึ้น
 

          สำหรับแผนการทำงานในระยะแรก ทีมนักวิจัยจาก HTT มีการทำงานร่วมกันกับทีมวิจัยของ ดร.อดิสร เพื่อพัฒนาและสร้างโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มวัสดุใหม่ๆ ที่เกิดจากการนำกราฟีนไปประยุกต์ใช้ อาทิ ซิลิกอนคาร์ไบด์ที่จะมีคุณสมบัติที่ทนต่อการสึกหรอและอุณหภูมิที่สูงเหมาะสำหรับการทำตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อไป

        Haydale เชื่อมั่นในความพร้อมของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยเฉพาะทีมวิจัยเนคเทค สวทช.ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องกราฟีนเป็นอย่างดี รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอุปกรณ์ทดสอบ และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ครบครัน ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นจุดแรกที่ทำให้บริษัทตัดสินใจเลือกตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาที่นี่ นอกจากนี้ยังเห็นว่าประเทศไทยและเอเชียมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและมีปริมาณของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดเป้าหมายของบริษัทจำนวนมาก เช่น สิ่งพิมพ์ รถยนต์ และคอมโพสิต นายเรย์ กิบบ์ส กล่าวทิ้งท้าย