News & Activities


17 สิงหาคม 2559

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ผลักดัน Open Innovation จับมือ เบทาโกร จัดงาน “Betagro Open Innovation @ TSP”

Betagro Open Innovation @ TSP”


           เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและเบทาโกร ร่วมกันจัดงาน “Betagro Open Innovation @ TSP”ณ อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี โดยมี ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และ น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร ร่วมเป็นประธาน ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “การบริหารจัดการความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา และการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา” จากสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี สวทช.

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา

          ดร.เจนกฤษณ์ ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดงานในครั้งนี้ว่า ในยุคนี้ Open Innovation เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรต้องทำ เกาหลีใต้ คือ ประเทศที่ใช้ Open Innovation เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเป็น Innovation Value Chain ให้นวัตกรรมเกิดการไหลได้ตั้งแต่ SMEs ไปจนถึงบริษัทใหญ่ ซึ่งจะเป็นตัวนำนวัตกรรมเข้าสู่ตลาด ส่งผลให้เกาหลีใต้มีความแข็งแรงในเชิงเศรษฐกิจทั้งระบบ บริษัทยักษ์ใหญ่ก็แข่งขันได้ เพราะนวัตกรรมที่นำมาใช้นั้นมาจากหลายภาคส่วนช่วยกันทำ ขณะเดียวกัน SMEs เองก็อยู่ได้ด้วยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีของตัวเองมาร่วมต่อยอดกับทางบริษัทรายใหญ่ออกสู่เชิงพาณิชย์

ทำไมต้องเป็น เบทาโกร..?                                                          

          ปีนี้เราเน้นเรื่องอาหารและชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนั้นเราจึงเริ่มที่เรื่องของอาหารก่อน เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมอาหาร เรามีเบทาโกรที่ถือเป็นยักษ์ใหญ่อยู่ในนี้อยู่แล้ว รวมถึงเบทาโกรมีโจทย์และความต้องการที่ชัดเจนตั้งแต่แรก คุณหมอรุจเวทย์เอง ก็สนใจในเรื่อง Open Innovation เลยชวนกันมาทำ โดยเริ่มด้วย Betagro Open Innovation @ TSPซึ่งในอนาคตเราจะขยายขอบเขตงานเพิ่มขึ้นไปอีกและจะทำให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะกับ Betagro เท่านั้น เราจะทำกับรายอื่นๆ ด้วย เรามุ่งหวังที่จะสร้าง Open innovation platform ขึ้น เพื่อต้นแบบให้เกิดแบบนี้มากขึ้นในประเทศ

น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว

           น.สพ.รุจเวทย์ เล่าเพิ่มเติมว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาเบทาโกร ทำงาน R&D ที่เกี่ยวกับธุรกิจเบทาโกรมาเป็นปีที่ 11 แล้ว มีทั้ง in house research, collaborative research กับทั้งมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัย สวทช. มาตลอด แต่เราเริ่มเห็นว่าถ้าเราจะเร่งสปีดของการทำวิจัยและพัฒนา เราต้องทำ Open Innovation กับบริษัทอื่นๆ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ พอดีกับการได้คุยกับทาง ดร.เจนกฤษณ์ จึงเห็นตรงกันว่าน่าจะจัดงานนี้ขึ้นมา ทำเป็น platform แล้วลองดูสิว่า เราจะเจอเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ตรงกับที่เบทาโกรต้องการและนำไปใช้ได้จริงหรือไม่? ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ จากจุดเริ่มต้นในวันนี้แค่ 5 บริษัท 7 ความร่วมมืออาจจะขยายผลให้กว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก ผมอยากเป็นต้นแบบให้บริษัทอื่นๆ ลุกขึ้นมาทำแบบนี้บ้างในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

เบทาโกรมาในวันนี้หวังที่จะเห็นนวัตกรรมที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทำเกือบจะเสร็จหรือสำเร็จแล้ว เรานำมาใช้กับธุรกิจของเราได้เลย เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลามานั่งทำวิจัย 2-3 ปี เราคาดหวังว่าจะเจอนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของเรา แล้วเราสามารถคุยกับกับบริษัทที่มา โดยเราเป็น seeker และเอามาใช้ได้เลย คุยกันเรื่องของการใช้สิทธิ์ และผลประโยชน์ที่จะต้องได้ด้วยกันทุกฝ่าย

           คุณศันสนลักษณ์ รัชฎาวงศ์ ผู้บริหาร มิตรผล ได้กล่าวถึงงานในวันนี้ “เป็นกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์ ทำให้เราได้เจอคนที่มีลักษณะงานธุรกิจที่สอดรับกัน มิตรผลเองก็เป็นบริษัทที่ทำวิจัยอยู่ในนี้ แต่จะนัดกันเองก็ไม่มีโอกาสสักที พอมีงานนี้เกิดขึ้นก็เลยทำให้เราได้หยิบยกเอาหลายๆ เรื่องเข้ามาคุยกัน”

           ดร.เจนกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้าย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเรามีเอกชน 80 บริษัทเข้ามาทำวิจัยและพัฒนา มีศูนย์วิจัยแห่งชาติอยู่ในนี้ 4 ศูนย์ ผมคาดหวังที่จะเห็นเอกชนที่มาทำวิจัยในนี้ได้ทำงานวิจัยมากขึ้น เร็วขึ้น เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ การทำให้นวัตกรรมมันไหลได้ เกิดเป็น Innovation Value Chain ก็จะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ด้วยกันหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย