News & Activities


21 มิถุนายน 2559

Gravitech (Thailand) เลือกเปิดศูนย์วิจัยพัฒนา ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักประดิษฐ์ ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หวังดัน Maker และ Hardware startup ผลิตสินค้าตัวเองออกสู่ตลาดโลก

Gravitech (Thailand) เลือกเปิดศูนย์วิจัยพัฒนา ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักประดิษฐ์  ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หวังดัน Maker และ Hardware startup ผลิตสินค้าตัวเองออกสู่ตลาดโลก


           เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และคณะผู้บริหารฯ เข้าร่วมงานเปิดศูนย์วิจัยพัฒนา ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักประดิษฐ์ ณ อาคารกลุ่มนวัตกรรม 1 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร.ชานนท์ ตุลาบดี

ดร.ชานนท์ ตุลาบดี ประธานกรรมการ บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า กราวิเทคเริ่มก่อตั้งขึ้นที่สหรัฐอเมริกาในปี 2006 ดำเนินกิจการออกแบบ, ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าบอร์ดทดลองอิเล็กทรอนิกส์และเซนเซอร์โมดูล เพื่อการศึกษาและงานวิจัยนวัตกรรมต้นแบบ บริษัทฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน Maker Movement มาโดยตลอด และด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่จะพัฒนาวงการ Maker และ Hardware Startup ในไทย ทำให้ในปี 2013 บริษัทฯ ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อสนับสนุนและนำผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทยออกไปจำหน่ายทั่วโลก ในขณะนั้นบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของ Maker ไทยที่ขาดอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งยังขาดพื้นที่ให้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันและเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 2014 จึงได้เปิด Makerspace ขึ้นที่ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ไอทีมอล ภายใต้ชื่อ Home of Maker” และในปี 2015 บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ สวทช. และ Chevron จัดงาน Bangkok Mini Maker Faire เพื่อให้เกิด Maker Movement ในประเทศไทย
          ดร.ชานนท์ ได้พูดถึงปัญหาของ Maker ไทยที่ผ่านมา ประสบกับปัญหาการสร้างต้นแบบให้มีรูปทรงที่ดึงดูดและเหมาะสมนั้นทำได้ยาก เพราะขาดเครื่องจักรที่มีความสามารถสูงในการสร้างชิ้นงาน รวมถึงขาดคนที่มีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้านมาช่วยในการวิจัยออกแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อเป็นการส่งเสริม startup อย่างจริงจัง บริษัทฯ จึงตัดสินใจเลือกอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยในการเป็นศูนย์วิจัยพัฒนา ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักประดิษฐ์ ด้วยปัจจัยความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญคอยแนะนำให้คำปรึกษาจาก 4 ศูนย์แห่งชาติ (NECTEC, BIOTEC, MTEC และ NANOTEC) ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นแหล่งรวมของบริการสนับสนุนภาคเอกชนให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมไปถึงการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคเอกชนภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ กว่า 70 บริษัท และเครือข่ายสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา เรียกได้ว่า เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานวิจัยและพัฒนาของ Maker และ Hardware startup ช่วยให้สินค้าออกสู่ตลาดโลกได้อย่างรวดเร็วขึ้น 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รอง ผอ.สวทช. กล่าวทิ้งท้ายว่า การเข้ามาจัดตั้งศูนย์ฯ ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้ เป็นแหล่งรวมของ Maker ให้ได้มีโอกาสพบปะกับกลุ่มนักวิจัยได้สะดวกขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสในการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือต่างๆ ระหว่าง สวทช., บริษัท กราวิเทค และกลุ่มนักประดิษฐ์ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน