News & Activities


4 กันยายน 2558

ชัดๆ กับ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง 2015

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล

          เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พูดถึงแนวโน้ม 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ (10 Technologies to watch) ไว้อย่างน่าสนใจในงาน NSTDA Investors’ Day 2015


1. Internet of Things Update

          จะมาเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ของเราอย่างมาก ด้วยการทำให้อุปกรณ์ต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา “ฉลาด” “มีสมอง” ขึ้นมาได้ ความสามารถในการมองโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจาก Internet of Things นี้ คือความท้าทายสำหรับพวกเราทุกคน ข้อมูลมากมายที่เราเก็บมาได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สภาพแวดล้อม ใครที่คิดได้ถึงโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ และเริ่มทำขึ้นมาก่อน ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ล่ำซำก่อนใครเพื่อน

2. Deep Learning and Artificial Intelligence

           คอมพิวเตอร์ในยุคนี้จนถึงอนาคต คอมพิวเตอร์จะเรียนจากคน และมันจะกลายเป็นพลังความคิดที่แรงกว่ามนุษย์คนหนึ่งคนใดมาก ทั้งเก่งและรู้มาก ถามอะไรตอบได้หมด เราจะถามเป็นภาษาไทยแล้วตอบมาเป็นไทยก็ได้ ต้นตอของการเรียนในเชิงลึกของระบบคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ คือ การเรียนจากสิ่งที่มนุษย์ทำ พูด คิด อย่างFacebook สามารถบอกได้ว่าคนในภาพเป็นเพื่อนของเราคนไหน ติดป้ายชื่อให้เสร็จสรรพ ความแม่นยำของการรู้จำใบหน้าของ Facebook นี้ น่าทึ่งมากทีเดียว แต่เชื่อว่า Facebook รู้ลึกมากกว่าใบหน้า เพราะมันเก็บไว้หมด ว่าเราชอบอะไร ชอบใคร และเขียนอะไรเอาไว้ รวมทั้งมีรสนิยมไปชมเนื้อหาเว็บแบบใด

3. Industry 4.0

          Industry 4.0 ที่กำลังจะมาถึง คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต 3D printing เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีดิจิทัลที่ปัจจุบันนี้ทำให้เราสามารถสร้างชิ้นส่วนต่างๆ ได้เองในโรงงาน ไม่ต้องรอสั่งมาจากที่อื่น และไม่ต้องเก็บสต๊อกของ ขึ้นชิ้นงานเมื่อต้องการจะใช้เท่านั้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้ก็จะมีผลกระทบต่อการผลิตและด้านลอจิสติกส์ที่มีกันอยู่ในปัจจุบัน

           การปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดการบริการอีกหลากหลายรูปแบบในอนาคตในภาคอุตสาหกรรม โดยที่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีระบบต่างๆ ครบถ้วน แต่สามารถเลือกเช่าใช้บริการได้อย่างเหมาะสม เช่น บริการคลาวด์แพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับการสื่อสารกับระบบต่างๆ บริการตรวจสอบ (monitoring service) หรือบริการวิเคราะห์ข้อมูล (analytic service) ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้โดยไม่ต้องลงทุนในทุกส่วน 

4. Super Battery

          ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเกิดใหม่หลายๆ เทคโนโลยีที่กำลังแข่งขันกันออกมา เพื่อให้แบตเตอรี่ที่เราใช้อยู่มีศักยภาพที่สูงขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังทำให้แนวทางการใช้พลังงานในบ้านเปลี่ยนไปอีกด้วย ในอนาคตเราอาจใช้แบตเตอรี่เพื่อเป็นพลังงานให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านแทนที่ไฟฟ้าที่ส่งมาตามสายไฟ เมื่อแบตเตอรี่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเช่นนี้ การผลิตแบตเตอรี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองเป็นอย่างมากเช่นกัน สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้สามารถผลิตได้ในราคาที่ถูกลงมากๆ หรือสามารถเก็บพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

5. สมองน้อยลองยา (Brain Organoid) 

          Brain Organoid ที่ใหญ่ที่สุดอันหนึ่งที่ทำได้ขณะนี้  มีขนาดและรูปร่างคล้ายกับสมองของตัวอ่อนในครรภ์อายุ 5 สัปดาห์  มีขนาดราวก้อนยางลบดินสอ และส่งถ่ายกระแสประสาทได้จริง  จึงสามารถใช้เป็น "โมเดล" สำหรับทดลองต่างๆ ได้  ตัดปัญหาจริยธรรมเรื่องการทดลองยาหรือสารต่างๆ กับสมองกับมนุษย์โดยตรง ขณะนี้นักวิจัยใช้มันในการศึกษาโรค Alzheimer's, Parkinson's, Schizo-phrenia, autism รวมถึงความผิดปกติของสมองแบบอื่นๆ  ก้อนสมองจิ๋วที่เพาะเลี้ยงได้จึงเปิดประตูบานใหม่สำหรับงานวิจัยความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง และน่าจะส่งผลดีในวงกว้างในอนาคตอันใกล้ 

6. การสังเคราะห์แสงเทียม (Artificial photosynthesis)

          แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่แทบไม่รู้จักหมดสิ้น  หากในอนาคตอันใกล้เรามีอุปกรณ์แบบง่ายๆ ที่สามารถแปลงพลังงานจากแสงอาทิตย์  ให้มาอยู่ในรูปของพลังงานหรือสารให้พลังงานแบบเดียวกับที่พืชทำได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิด value chain อย่างมากทั้งในด้านพลังงานและอาหาร  หรือจะให้ดียิ่งขึ้นคือ ช่วยลด CO2 ในอากาศด้วย  ก็จะทำให้วิกฤตพลังงานโลกและภาวะโลกร้อนพลิกโฉมไปแน่นอน การใช้ปฏิกิริยาแบบ Carbon dioxide reduction ในการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ ให้กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ไฮโดรคาร์บอนที่ใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงได้ เช่น มีเทน, เมทานอล หรือเอธิลีน  ความท้าทายของเทคโนโลยีนี้ คือ  การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาให้มีประสิทธิภาพสำหรับปฏิกิริยา CO2 reduction มากๆ และเกิดปฏิกิริยาได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน   

7. จักรวาลจุลินทรีย์ในร่างกาย (Microbiome)

          ร่างกายของมนุษย์เราเป็นเครือข่ายสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน  อันที่จริงแล้วหากนำเซลล์ทั้งหมดในร่างกายของคนเรามาแยกแยะออกจากกัน  ก็จะพบว่าเป็นจุลินทรีย์ต่างๆ รวมกันมากเป็น 10 เท่าของเซลล์ร่างกายมนุษย์เอง  ปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ในร่างกายของคน มีผลต่อสุขภาพของคนเป็นอย่างมาก   โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่อยู่ในทางเดินอาหารของคนเรา  เฉพาะในลำไส้ของมนุษย์เราก็มีจุลินทรีย์มากถึงราว 1,000 ชนิดเข้าไปแล้ว ศัพท์ทางเทคนิคเรียกจุลินทรีย์ทั้งหมดในร่างกายรวมกันว่าคือ ไมโครไบโอม (microbiome) ตัวอย่างปฏิสัมพันธ์ที่น่าสนใจของไมโครไบโอมกับร่างกายมนุษย์ เช่น  มีงานวิจัยที่พบว่าจุลินทรีย์จำเพาะบนผิวหนังของคนเราเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนแต่ละคนดึงดูดยุงให้มากัดได้ไม่เท่ากัน  บางคนอาจแพ้ยาแก้ปวดบางชนิด เพราะจุลินทรีย์ในร่างกายเปลี่ยนยาให้เป็นสารพิษต่อตับ และจุลินทรีย์บางชนิดยังไปกำหนดอีกด้วยว่า ยาโรคหัวใจบางชนิดใช้ได้กับผู้ป่วยบางคนได้หรือไม่ 

8. หมอบนข้อมือ (Nanoparticle-based diagnosis)

          ลองจินตนาการว่าถ้าวันหนึ่งนาฬิกาข้อมือที่เราสวมใส่อยู่ทุกวัน  สามารถบอกสถานะสุขภาพของเราได้ เช่น แจ้งเตือนเมื่อมีปริมาณโซเดียมในกระแสเลือดสูงเกินไป หรือแม้แต่รายงานจำนวนเซลล์มะเร็งในกระแสเลือดของผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังเคมีบำบัดได้  ก็น่าจะมีประโยชน์และช่วยชีวิตคนได้มาก  เนื่องจากปัจจุบันมะเร็งเป็นโรคสำคัญที่คนเป็นกันมาก และกว่าจะรู้ตัวก็เมื่อเข้าสู่ระยะท้ายๆ ซึ่งยากต่อการรักษาแล้ว

              เทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนการแพทย์แบบ reactive คือ  ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจตามวันและเวลานัดไว้ หรือเมื่อมีอาการของโรคแล้ว กลายเป็นแบบ proactive  ที่มีการตรวจพบล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มมีอาการของโรค 

9. การพิมพ์สี่มิติ (4D Printing)

          การพิมพ์แบบ 4 มิติ หรือ 4D Printing จะช่วยขยายขอบเขตหน้าที่ของงานพิมพ์ออกไปอย่างกว้างขวางอีกระดับหนึ่ง การพิมพ์ 4 มิตินั้น  อาศัยความสามารถในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือการจับตัวกันของวัตถุอย่างจำเพาะเจาะจง  ทำให้วัตถุที่พิมพ์ออกมาแล้วด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีความสามารถในเปลี่ยนรูปร่างตัวเองได้ในภายหลัง  หากอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือได้รับสารกระตุ้นอย่างเหมาะสม เช่น น้ำ เป็นต้น และในอนาคตอาจกระตุ้นได้ด้วยแสง, ความร้อน หรือแม้แต่เสียง  ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งทางด้านการแพทย์ และการก่อสร้างแบบ automation และ robotics

10. เสื้อผ้าฉลาด (Smart Textiles)

          ถ้าเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ปรับอุณหภูมิให้ใส่สบาย  เก็บพลังงานไว้ใช้ชาร์ตมือถือได้ หรือแม้แต่ตรวจวัดจังหวะการเต้นของหัวใจของเราได้ ก็คงจะดีไม่น้อย และเรื่องนี้ก็ใกล้จะเป็นความจริงมากแล้ว  เสื้อผ้าในอนาคตอันใกล้นอกจากจะใช้เพื่อปกป้องร่างกาย หรือเป็นแฟชั่น ยังจะทำอีกหลายอย่างที่เสื้อผ้าแบบเดิมๆ ทำไม่ได้  โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักตามลักษณะการใช้งาน คือแบบเพิ่มความงาม (Aesthetic)  และ แบบเพิ่มสมรรถนะ  (Performance Enhancing) โดยแบบเพิ่มความงาม นั้น  ผ้าจะมีแสงในตัวเองหรือเปลี่ยนสีได้ โดยใช้พลังงานจากสิ่งรอบตัว ทั้งจากการสั่นสะเทือน, เสียง หรือความร้อน แล้วมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าเหล่านี้

          สิ่งที่สำคัญ คือ ใครสามารถจับเทคโนโลยีที่สำคัญมาทำได้ก่อน ก็จะสามารถได้ผลตอบแทนมหาศาลไปได้ก่อนใคร

10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2015 (ฉบับเต็ม)