News & Activities


24 มีนาคม 2557

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยร่วมงาน Thai-BISPA “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นวัตกรรมสร้างฐาน”


          เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thai-BISPA) ฉลองครบรอบ 5 ปี จัดงาน Thai-BISPA Day 2014 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร หวังให้ผู้ประกอบการไทยมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความก้าวหน้าเป็นหนึ่งในอาเซียน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการพบนักลงทุน พร้อมนำเสนอนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จำนวนมาก นับเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ และทรัพย์สินทางปัญญา โดยคาดว่าจะสามารถส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ

นางสุวิภา วรรณสาธพ นายกสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวเปิดงาน สมาคมฯ ได้จัดตั้งขึ้นด้วยการสนับสนุนของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายของกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศ ช่วยพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจใหม่ให้เกิดขึ้นและมีมาตรฐานระดับสากล ด้วยการสร้างความตระหนัก ความเข้าใจในกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจ อีกทั้งสร้างโอกาสให้มีการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ออกสู่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการที่สนใจเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ
          ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยในตลาดประชาคมอาเซียน” ส่วนหนึ่งของปาฐกถาในครั้งนี้ ดร.สุรินทร์ ได้กล่าวไว้ในประเด็นที่น่าคิดว่า ประเทศไทยมีกลไกในการสนับสนุนบริษัทธุรกิจที่มาจากงานวิจัยที่ตั้งใหม่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเงิน วิชาการ การตลาด ปูพื้นความรู้ทางธุรกิจ โดยมีโมเดลบ่มเพาะธุรกิจในหลายประเทศชั้นนำทั่วโลกได้พิสูจน์มาแล้วว่า บริษัทเหล่านี้ถ้าเติบโตจะสร้างงาน สร้างนวัตกรรม และสร้างรายได้ให้กับประเทศ หลายๆ ประเทศได้พ้นจากการติดกับ middle income trap

          (ภาพของประเทศกำลังพัฒนาที่เริ่มถีบตัวจากความยากจน สร้างรายได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออก จนทำให้ประชาชนในประเทศมีความกินดีอยู่ดีในระดับหนึ่ง แต่กลับไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีฐานะร่ำรวย (high income countries) ได้ เหตุเพราะไม่สามารถสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิผลในการผลิต เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ ในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากด้านล่าง เพราะประเทศกำลังพัฒนาหน้าใหม่ๆ ล้วนเกิดขึ้นและเป็นคู่แข่งในตลาดโลก แถมยังมีค่าแรงที่ถูกกว่า ซึ่งจะมาแย่งฐานการผลิตเพื่อส่งออกของกลุ่มประเทศที่ “ติดกับดัก” เหล่านี้นั่นเอง) เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นต้น

          สำหรับในภาคบ่ายนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ มี 3 งานย่อยด้วยกัน คือ Track 1 : เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์, Track 2 : Start-ups Meet Investors และ Track 3 : Researchers Meet Industry ซึ่งทั้ง 3 track นั้นได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก