News & Activities


13 ธันวาคม 2556

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติร่วมกับ สวทช. เปิดให้บริการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ สำหรับการศัลยกรรมประสิทธิภาพสูง

          เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556 ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมพิธีเปิดให้บริการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ สำหรับการศัลยกรรมทางช่องปากและงานทันตกรรมเนื่องในโอกาสการจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและวันคล้ายวันสถาปนาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติครบรอบ 26 ปี ในงานนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นประธานในพิธีเปิดร่วมกับ รศ.นพ.ศุภชัย ฐิติอาชากุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทพ.ยุวบูรณ์ จันทร์แจ่มจรูญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานทันตกรรมโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติผศ.ทพ.ดร.สำเริง อินกล่ำ คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แทนจาก สวทช.ประกอบด้วย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ นักวิจัยอาวุโสและที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.กฤษฎา สุชีวะ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ นักวิจัยอาวุโสและที่ปรึกษา สวทช. เป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม (Developmentof CT Scanner for Dentistry)
 

          ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ นักวิจัยอาวุโสและที่ปรึกษา สวทช. ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม หรือ DentalCT กล่าวว่า "ผมสนใจและมุ่งมั่นในการวิจัยพัฒนาเครื่อง CTScanner มากว่า 30 ปีแล้วตั้งแต่ยังเป็นนักวิจัยสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เพราะผมมีความรู้และวิจัยเรื่องการประมวลสัญญาณดิจิทัล ในตอนนั้นพิสูจน์หลักการทำงานของเครื่องได้แต่ยังไม่สามารถประกอบให้เป็นเครื่องสำเร็จรูปไปใช้งานทางการแพทย์ได้จริง เพราะไม่มีแหล่งในต่างประเทศที่จำหน่ายชิ้นส่วนสำคัญ ที่จะนำมาประกอบได้หากประเทศไทยต้องการใช้อุปกรณ์ CTScanner ก็ต้องซื้อทั้งชุดซึ่งแพงมาก แต่ปัจจุบันนี้แหล่งต่างประเทศเริ่มจำหน่ายชิ้นส่วนสำคัญดังกล่าวแล้ว ประกอบกับ สวทช. มีนักเรียนทุนที่ศึกษาด้านการประมวลสัญญาณภาพและการออกแบบอุปกรณ์กลับมาเป็นนักวิจัยจำนวนที่เพียงพอ นโยบายและบรรยากาศของ สวทช. เองก็เอื้ออำนวยให้มีการทำงานระหว่างศูนย์แห่งชาติมากขึ้น จึงทำให้สามารถวิจัยจนสร้างเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติสำหรับงานทันตกรรมได้ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยในการนำไปใช้งานในมนุษย์อย่างเข้มงวด ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันมีการนำไปใช้งานจริงทางทันตกรรมในโรงพยาบาลรัฐและคลินิกเอกชนรวมทั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติถึง 3 แห่งแล้ว การวิจัยพัฒนายังต้องทำต่อไปเพื่อการประกอบให้ได้มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้นและขณะเดียวกันต้นทุนที่ประหยัดมากขึ้นตามลำดับ เพื่อที่จะถ่ายทอดให้เอกชนต่อไปในอนาคต ผมเชื่อว่าทีมนักวิจัยจาก สวทช. ของเราจะสามารถพัฒนาเครื่องมือนี้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าวนี้ได้เพื่อช่วยให้คนไทยได้รับการบริการจากเครื่องมือทางด้านทันตกรรมที่ปลอดภัยทันสมัยและทั่วถึงกันทั้งประเทศ"

นักวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมหรือ DentalCT และอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
          เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมหรือ DentalCT ดำเนินการวิจัยและพัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเอกซเรย์ซีทีและการสร้างภาพทางการแพทย์ (CTI) สังกัดหน่วยพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์และระบบทางชีวการแพทย์ (BESDU) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ (MDL) สังกัดหน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ (BMERU) ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) มี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ นักวิจัยอาวุโสและที่ปรึกษา สวทช. เป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม (Developmentof CT Scanner for Dentistry) ดังกล่าว
          โครงการนี้เริ่มอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.2540 จนสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม โดยใช้เทคนิคลำแสงของรังสีเอกซ์แบบกรวยเป็นผลสำเร็จเครื่องแรกในประเทศ เครื่องดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยเรื่องปริมาณรังสีจากกองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข เครื่องต้นแบบภาคสนามได้นำไปติดตั้งและทดสอบทางคลินิก (clinicaltrial) โดยผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ฯ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี พ.ศ.2554 สุดท้ายนำไปสู่การใช้งานจริงที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และศูนย์ทันตกรรมเอสดีซีกรุงเทพฯ ปัจจุบันทั้งสองแห่งได้มีการเปิดให้บริการในผู้ป่วยจริงรวมมากกว่า 500 ราย ตัวอย่างการใช้งานเช่นการวางแผนและตรวจสอบการฝังรากฟันเทียมเพื่อไม่ให้กระทบเส้นประสาทหรือทะลุเข้าไปในโพรงจมูก(sinus) การตรวจสอบกระดูกขากรรไกรที่เป็นมะเร็งกรามช้างเพื่อวางแผนการผ่าตัดออกและทดแทนด้วยขากรรไกรเทียม การวางแผนและตรวจสอบการปลูกกระดูกก่อนฝังรากฟันเทียมการตรวจสอบและวางแผนการผ่าตัดถอนฟันบริเวณที่เสี่ยงอันตรายการวางแผนและตรวจสอบการฝังหมุดเพื่อติดหูเทียมเป็นต้น การเปิดให้บริการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับการศัลยกรรมทางช่องปากและงานทันตกรรม (DentalCT) ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จึงเป็นแห่งที่ 3 ทำการติดตั้งไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 และมีผู้มาใช้บริการไปแล้วจำนวน 10 ราย
ผู้สนใจสามารถชมประสิทธิภาพของ DentalCT ได้ที่ http://youtu.be/0HUJv-S8PHA

ภาพการให้บริการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม 3 มิติ