News & Activities


9 เมษายน 2556

พันธุ์ข้าวช่วยชาติ

          การที่ประเทศไทยปลูกข้าวให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ค่อนข้างต่ำคือตกไร่ละ 460-480 กก.ขณะที่จีนได้ผลผลิตไร่ละ 1,054 กก.เวียดนามเฉลี่ยไร่ละ 875กก. และอินโดนีเซียไร่ละ 774 กก.นั้น เพราะเราคำนวณภาพรวมพื้นที่ทำนาทั่วประเทศมีทั้งสิ้นจำนวน 69.82 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 57.42 ล้านไร่ นาปรัง 12.40 ล้านไร่ แต่เกษตรกรที่ยังยึดอาชีพการทำนาจริงใจปัจจุบันในพื้นที่เพียง 34 ล้านไร่ เป็นการทำนาปีราว 22 ล้านไร่และนาปรังราว 12 ล้านไร่

          ในจำนวนนี้เราไปเหมารวมกับพื้นที่ภาคอีสานที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีผลผลิตไม่ถึงไร่ละ 400 กก. และรวมกับพื้นที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในการทำนาอีกกว่า 6 ล้าน จึงทำให้ภาพรวมในการผลิตข้าวของไทยต่อพื้นที่ค่อนข้างต่ำ แต่ถ้าเราเน้นเฉพาะพื้นที่เหมาะต่อการทำนา โดยเฉพาะในพื้นที่เขตชลประทานจะได้ผลผลิตค่อนข้างสูง บางพื้นที่ให้ผลผลิต 800-900 กก. ครับ

          การทำนาในเขตชลประทานของเราต้องยอมรับว่า มีปัญหามากมาย โดยเฉพาะการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านไร่ ที่ผ่านมากรมการข้าวได้พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์จนได้พันธุ์กข.47ทนต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ระดับหนึ่ง

          ล่าสุดกรมการข้าวได้ปรับสายพันธุ์ข้าวใหม่อีก2 สายพันธุ์ถือว่าเป็นพันธุ์ข้าวช่วยชาติได้ และมีการปรับสายพันธุ์เรียบร้อยแล้ว คือพันธุ์ข้าว กข.49 ที่สามารถทนต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและให้ผลผลิตสูง อีกสายพันธุ์หนึ่งเป็น ข้าวหอม กข.51 ซึ่งทนต่อน้ำท่วมฉับพลันได้นานถึง 12 วัน ทั้งสองสายพันธุ์จะมีจำหน่ายที่ศูนย์วิจัยข้าวที่ จ.พิษณุโลกและอุบลราชธานี

          ท่านอธิบดีชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าวบอกว่า ข้าวพันธุ์กข.49 เหมาะกับการปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง เป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดี สามารถผลิตข้าวสาร 100% ชั้น 1 นอกจากต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ยังมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงถึงไล่ละ 939 กก. หรือผลผลิตเฉลี่ยอยู๋ที่ 733 กก.ต่อไร่ และจัดเป็นข้าวคุณภาพสูงที่สามารถผลิตเป็นข้าว

          สำหรับข้าวพันธุ์ กข.51 เป็นพันธุ์ที่พัฒนาร่วมกันกับศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) โดยมีพันธุ์หอมมะลิ 105 เป็นพันธุ์แม่ มีคุณสมบัติทนน้ำท่วมฉับพลันได้นาน 12 วัน ซึ่งพันธุ์กข.51 นั้นให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 736 กก.ต่อไร่ และหลังน้ำลดสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ถึง 82% เหมาะสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

          นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรไทย นอกจากรอดพ้นจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแล้วยังให้ผลผลิตสูงด้วย