News & Activities


28 สิงหาคม 2555

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดงานมหกรรมวิทย์ฯทรงย้ำวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับภาวะวิกฤต

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเปิดงาน“มหกรรมวิทย์ฯ” ทรงย้ำวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับภาวะวิกฤต

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จทรงเปิดงาน “มหกรรมวิทย์" ตรัสว่า วิทยาศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกมีวิวัฒนาการเช่นปัจจุบัน และการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ทรงย้ำว่าวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับภาวะวิกฤต อีกทั้งการปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชนในรอบด้าน ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ และกิจกรรมที่จัดขึ้นยังช่วยผลักดันให้สถานศึกษาปรับปรุงการเรียนการสอน วิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๕ อย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อเวลา ๑๔:๒๕ น.วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยมี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะเฝ้าฯ รอรับเสด็จ

พระราชทานพระราโชวาท ความว่า การที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน จัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประจำทุกปี นับเป็นความพยายามและความตั้งใจที่จะช่วยกันเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน และบุคคลทั่วไป และแสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยอันสำคัญที่ทำให้โลกมีวิวัฒนาการเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“การจะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า การจัดการภาวะวิกฤตต่างๆ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ก็ย่อมจะต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสำคัญ กิจกรรมนี้ช่วยส่งเสริมความเข้าใจ ใฝ่ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน อันเป็นเป้าหมายสำคัญ ทั้งยังมีส่วนช่วยผลักดันให้สถานศึกษาปรับปรุงการเรียน การสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ ให้เยาวชนมีพื้นฐานที่เข้มแข็งเพื่อจะสามารถศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับสูงที่จะ มีผลต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญสถาพร ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงและผาสุกของประชาชน”

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.ดร.สุพจน์ หนองหารบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เบิกผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และเบิกนักวิทยาศาสตร์อาวุโส ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักเรียนผู้ชนะเลิศการประกวด โครงการวิทยาศาสตร์ระดับประเทศเข้ารับพระราชทานรางวัล ตามลำดับ จากนั้นสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการภายในงาน

สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี ๒๕๕๕ จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิดพัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์” ซึ่งภายในงาน ประกอบด้วยนิทรรศการที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์

ในการนี้ รศ. ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เฝ้าฯรับเสด็จ ณ ในส่วนของบูท "นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพาราไทย" พร้อมด้วย นางสาวโสภิตา จิตบุญ ทีมวิจัยห้องปฏิบัติการยาง หน่วยวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้ถวายรายงานในส่วนของโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนของ อุตสาหกรรมยางพาราไทยว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบคือ น้ำยางธรรมชาติสดที่ได้จากการกรีดต้นยางพารา จนถึงกระบวนการแปรรูปเป็นน้ำยางข้นสำหรับจำหน่ายเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ยางในรูปแบบต่างๆ

ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาสารรักษาสภาพน้ำยางธรรมชาติสดคือ สาร TAPS เพื่อใช้ทดแทนสารแอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุนและสารที่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง หลังจากน้ำยางธรรมชาติสด TAPS เข้าสู่เครื่องปั่นแยกน้ำยางได้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำยางข้น ส่วนที่เหลือจากการผลิตน้ำยางข้นคือ หางน้ำยางหรือน้ำยางสกิม ซึ่งมีเนื้อยางอยู่ในปริมาณ 3 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ในการแยกเนื้อยางออกจากหางน้ำยางหรือน้ำยางสกิม ทีมวิจัยได้พัฒนาสาร GRASS 0 และ GRASS 1 แทนการใช้กรดกำมะถันเข้มข้นหรือกรดซัลฟุริก โดยเนื้อยางที่ได้มีคุณภาพดีกว่า และน้ำทิ้งจากการใช้สาร GRASS 1 จะไม่มีกลิ่นก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่าซึ่งส่งกลิ่นเหม็นและส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับในส่วนของน้ำล้างเครื่องปั่นแยกน้ำยางที่มีเนื้อยางอยู่ 0.3 ถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์ ทีมวิจัยได้พัฒนาสาร GRASS 2 เพื่อจับตัวเนื้อยางในน้ำล้างเครื่องปั่นแยกน้ำยาง ได้เป็น ยางจากน้ำล้าง

ในส่วนของของเหลือจากกระบวนการผลิตคือ กากตะกอนน้ำยางหรือขึ้แป้ง ทีมวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยี GRASS 3 ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงในการแยกเนื้อยางจากตะกอนน้ำยางหรือ ขี้แป้ง ได้เป็นยางจากตะกอนขี้แป้ง และสารอนินทรีย์ที่มีความบริสุทธิ์สูงซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอนินทรีย์ หรือเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเซรามิกส์ สำหรับเทคโนโลยี GRASS 3 นี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรในหลายประเทศผู้ผลิตน้ำยางข้นสำคัญของโลก และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมน้ำยางข้นไทย จำนวน 5 บริษัท ที่มีโรงงานรวม 17 โรงงาน ซึ่งครอบคลุมกำลังการผลิตน้ำยางข้นร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตน้ำยางข้นรวมของประเทศ และอยู่ระหว่างการดำเนินการขยายผลไปยังโรงงานต่างๆ


โดยสรุปนวัตกรรมเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมยางพาราแบบครบวงจร

และในส่วนของการสาธิตกระบวนการผลิตถุงมือยาง สมเด็จพระเทพฯ ทรงทำถุงมือยางจากน้ำยางคอมพาวด์ที่เตรียมจากน้ำยางข้น TAPS

ภาพบรรยากาศผู้เข้าร่วมกิจกรรมและชมนิทรรศการที่บูทในส่วนของเอ็มเทค/สวทช.
นอกจากนี้งานมหกรรมวิทย์ฯ ยังให้ความสำคัญกับการร่วมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ของนักคณิตศาสตร์และนักถอดรหัส อลัน ทัวริง และยังคงให้ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจ และความตระหนักในภาวะวิกฤตของโลก ทั้งด้านสถานการณ์น้ำเทคโนโลยีและกระบวนการจัดการน้ำ และความรู้สู้ภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโลกและจักรวาล เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระแสความเชื่อในปี ค.ศ.๒๐๑๒ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานได้ไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม
เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วประเทศกว่า ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วมตลอดทั้ง 15 วัน
เขียนข่าวโดย : นางสาวฐิติวรดา ปัญจพาณ์อัครนาฏ งานประชาสัมพันธ์ ศว.

ภาพถ่ายโดย : สำนักราชวัง และ นายอิทธิพัทธ์ พิทวัสภาคิน งานประชาสัมพันธ์ ศว.

ที่มา: http://www.nstda.or.th/news/8776-hrh-most