News & Activities


10 กรกฏาคม 2561

จับตา 10 เทคโนโลยี “เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต” ในปี 2018

 

จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018

 

         “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ (10 Technologies to Watch) ในปี 2018” จากมุมมองของ ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งแนะนำ 10 เทคโนโลยีใหม่ที่จะส่งผลกระทบในช่วงเวลา 5-10 ปีในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการและคนทั่วไป เตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม เพื่อรับผลกระทบทั้งในชีวิตประจำวัน สังคม และเศรษฐกิจ ได้แก่

 

จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018

1. แบคทีเรียลดยุงพาหะ (Mosquito-targeted Wolbachia) – เพื่อลดจำนวนของยุงที่เป็นพาหะของโรคร้ายแรงหลายชนิดด้วยการทำให้ยุงติดเชื้อแบคทีเรียสกุลโวลบาเชีย (Wolbachia) ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้ไข่ฝ่อ ฟักไม่ได้ และทำให้ยุงพาหะไม่สามารถนำโรค เพราะเชื้อก่อโรคไม่อาจเติบโตในตัวพวกมัน ขณะนี้เริ่มทำการทดสอบแล้วใน 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และออสเตรเลีย

จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018
 

2. วัคซีนกินได้ (Edible Vaccine) - วัคซีนรุ่นใหม่อาจจะใช้วิธีการกินผลิตขึ้นในพืช เช่น มันฝรั่ง ยาสูบ กล้วย มะเขือเทศ ผักกาดหอม ข้าวโพด ถั่ว และข้าว โรคที่ศึกษาก็มีตั้งแต่โรคตับอักเสบบี โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ และโรคแอนแทรกซ์ เป็นต้น โดยการนำสารพันธุกรรมของเชื้อโรคที่ไม่เกี่ยวกับการก่อโรคมาใส่เข้าไปในพืช พืชจะเป็นเหมือนโรงงานที่สร้างสารเหล่านี้ขึ้นมา เมื่อปลูกพืชนี้ในกระบวนการเพาะเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพสูงในที่ปิด ที่เรียกว่า plant factory เราก็จะได้โรงงานวัคซีนแบบใหม่ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงต่อไป วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้ไข่สดหรือสัตว์ในการผลิต จึงปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อโรค

 

 

จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018

3. เซลล์สำหรับทดสอบยา (Cell Line for Drug Testing)เป็นการนำเซลล์ผู้ป่วยมาทำให้เป็นสเต็มเซลล์แบบพิศษ iPSC นำมาทดสอบยาได้โดยตรง และได้คำตอบที่ชัดเจนว่า ยาที่ต้องการใช้ทำให้เซลล์ผู้ป่วยคนนั้น มีปฏิกิริยาทางลบหรือจะเกิดการแพ้ยาหรือไม่ นี่จึงเป็นแนวทางหนึ่งของ “การแพทย์ส่วนบุคคล” (Personalized Medicine) ซึ่งเป็นการรักษาแบบจำเพาะกับบุคคล นอกจากนี้คลังของเซลล์แบบนี้ยังสามารถนำมาใช้ทดสอบยา หรือทดสอบแบบอื่นได้เป็นอย่างดี ทดแทนการทดสอบในสัตว์ทดลอง เทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์จากสัตว์ หรือแม้แต่เซลล์จากผู้ป่วยนี้ จึงถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้การรักษาผู้ป่วยแบบจำพาะเจาะจงรายคน ประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

 
จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018
4. การบำบัดส่วนบุคคล (Personalized Therapy) - หัวใจหลักของการรักษาแบบใหม่ในอนาคตมาจากการสร้างสเต็มเซลล์อย่างง่ายๆ ที่นำมาใช้ซ่อมแซม หรือสร้างทดแทนเนื้อเยื่อ อวัยวะที่สึกหรอไป นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ชินยะ ยามานะกะ (Shinya Yamanaka) ค้นพบวิธีการสร้าง “ตั้งโปรแกรมใหม่” หรือ reprogramming cell ซึ่งช่วยเปลี่ยนเซลล์ร่างกายแบบอื่นๆ ที่มีจำนวนมาก เช่น เซลล์ผิวหนัง ให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ได้ จนได้รับรางวัลโนเบลในปี 2012 ไม่แค่เราได้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยง่ายขึ้น เทคโนโลยีในการแก้ไขดีเอ็นเอที่ผิดปกติ “เทคโนโลยีการดัดแปลงยีน” หรือที่เรียกว่า CRIPR/Cas9 (คริสเพอร์แคส 9) จะช่วยรักษาโรคต่างๆ รวมถึงโรคพันธุกรรมที่ไม่เคยรักษาได้มาก่อน การผสมผสานเอาเทคนิคทั้ง 2 แบบเข้าด้วยกัน ทำให้การรักษาโรคเป็นแบบจำเพาะเจาะจงกับคนนั้นๆ ตัวอย่างโรคแรกๆ ที่มีการทดลองไปคือ โรคจอตาเสื่อม
 
 
 
จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018

5. เข็มจิ๋วอัจฉริยะ (Intelligent Nano-Needle) - เข็มฉีดยาในอนาคตจะฉลาดและทำงานได้อย่างอเนกประสงค์ เช่น การเชื่อมต่อกับตัวตรวจจับหรือตัวรับสัญญาณ หรือ sensor สามารถตรวจวัดการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายตามเวลาจริง (real time) เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการตรวจวัดระดับน้ำตาลอยู่ตลอดเวลา อาจต้องอาศัยเข็มแบบนาโนนี้ แปะติดกับผิวหนังไว้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลที่ผิดปกติ sensor ที่ติดอยู่กับเข็ม จะส่งสัญญาณไปยังระบบสมองกล ซึ่งอาจจะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์ผลทันที ก่อนจะสั่งการให้เข็มแบบเดียวกันอีกชุดหนึ่งที่มีอินซูลินหรือยาอื่นที่จำเป็นฉีดเข้าไปในระดับที่จำเป็นพอดีกับระดับน้ำตาลขณะนั้น เข็มจิ๋วอัจฉริยะแบบนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่เข็มฉีดยา แต่กลายเป็น ชุดวัดระดับน้ำตาลไปในตัว

 

จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018

6. วาล์วจิ๋วส่งยา (Nano-Valve)“วาล์ว (valve)” หรือ ลิ้นปิดเปิดระดับนาโน ระบบนำส่งโมเลกุลหรือยาไปสู่เซลล์เป้าหมายและสามารถควบคุมการปล่อยในตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการควบคุมนี้ อาจจะอาศัยกลไกการเปลี่ยนแปลง pH หรือสารจำเพาะบางอย่างในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเป้าหมาย เช่น เซลล์เนื้องอกหรือมะเร็งมี pH หรือสารจำเพาะที่ต่างจากเซลล์ปกติ ทำให้วาล์วเปิดและปล่อยสารหรือยาที่อยู่ภายในออกมาได้ นอกจากนี้ยังควบคุมได้จากภายนอกร่างกายหรือภายนอกเซลล์ เช่น ใช้การกระตุ้นด้วยแสง ความร้อนหรือสนามแม่เหล็ก เป็นต้น นาโนวาล์ว จึงเป็นอีกทางหนี่งในการรักษาโรคในอนาคต

 

 

 

จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018

7. การพิมพ์โลหะ 3 มิติ (Metal 3D Printing) - ปัจจุบันการพิมพ์โลหะ 3 มิตินำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอากาศยานและยานยนต์ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ รวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนปลูกฝังทางการแพทย์ โดยเทคโนโลยีดังกล่าว มีการใช้เลเซอร์ (Laser) หรือลำแสงอิเล็กตรอน (Electron Beam) หลอมละลายผงโลหะเป็นชั้นๆ ชิ้นงานที่ได้มีความแข็งแรง ตกแต่งเพียงเล็กน้อยก็ใช้งานได้ทันที ข้อดีคือ ไม่ต้องผลิตเป็นจำนวนมากและสามารถผลิตชิ้นงานที่ความเฉพาะเจาะจง เช่น ในทางการแพทย์ รวมทั้งการพิมพ์ในสถานที่เข้าถึงยาก เช่น เรือดำน้ำ หรือยานอวกาศ ปัจจุบัน เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับภาคเอกชนทำงานวิจัยที่ประยุกต์ใช้การพิมพ์โลหะ 3 มิติเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม ทั้งวิธีการพิมพ์ที่ใช้เลเซอร์ หรือลำแสงอิเล็กตรอน และวิธีการพิมพ์ที่ต้องนำชิ้นงานไปเผาผนึกก่อนการใช้งาน

 

จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018

8. วัสดุดูดซับเสียงออกแบบได้ (Customized Sound Absorber)“โฟมอะลูมิเนียม” เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติการดูดซับเสียงดี แข็งแรง ทนแรงกระแทก น้ำหนักเบา สวยงาม ไม่ลุกติดไฟ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ปัจจุบันมีการผลิต จำหน่ายและใช้งานในต่างประเทศ แต่ยังไม่มากนัก เนื่องจากมีต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตสูง นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. พัฒนาโฟมอะลูมิเนียมที่มีคุณสมบัติเด่น คือ ดูดซับเสียงที่ความถี่เสียงต่างๆ ได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ออกแบบโดยใช้วัสดุทรงกลมซึ่งสามารถทนอุณหภูมิสูง และมีพื้นผิวรูปแบบต่างๆ เป็นวัสดุที่ทำให้เกิดรูพรุนรูปแบบต่างๆ ภายในโฟมอะลูมิเนียม การทดสอบในห้องปฏิบัติการสามารถลดระดับเสียงดังลงได้จาก 90 เดซิเบล เป็น 64 เดซิเบล (การฟังเสียงดังระดับ 85 เดซิเบล ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้การรับฟังเสียงบกพร่องอย่างถาวรได้) วิธีการดังกล่าวมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแบบเดิมถึง 50 % ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย

จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018

9. เทคโนโลยีไซเบอร์–ฟิสิคัล (Cyber–Physical Technology)ในอนาคตอันใกล้จะมีอัตรการเพิ่มประชากรในเขตเมืองมากขึ้น โดยเมืองกายภาพ หรือ physical city และเมืองไซเบอร์ หรือ cyber city จะเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายเซนเซอร์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์หลากหลายชนิดเกิดความเป็น “เมืองแบบไซเบอร์-ฟิสิคัล” ซึ่งจะเกิดโอกาสทางธุรกิจแบบใหม่จำนวนมาก ซึ่งหลายธุรกิจได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น ระบบบริการรถของอูเบอร์ ร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีแคชเชียร์ (Amazon Go) หรือระบบจัดการจราจรที่เรียกว่า City Brain ของอาลีบาบาที่ทำงานผ่านกล้องซีซีทีวี และ Cloud Computing AI ทำให้การจราจรเมืองหางโจวของจีนคล่องตัวขึ้น 15% และกำลังขยายมาสู่ประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย การผนวกสองมิติของเมืองเข้าด้วยกัน เริ่มจากการเชื่อมต่อของสิ่งต่างๆ ในโลกกายภาพแบบเป็นเครือข่าย ซึ่งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ IoT เป็นตัวช่วยสำคัญ ปัจจุบัน สวทช. กำลังสร้างฐานเทคโนโลยีระบบนี้ผ่านโครงการเน็ตพาย (NETPIE) และโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน

จับตา 10 เทคโนโลยี เปลี่ยนธุรกิจ-วิถีชีวิต ในปี 2018

10. เทคโนโลยีแช็ตบอต (Chatbot Technology) – คนจำนวนมากมีเครื่องคอมพิวเตอร์พกติดตัว เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดึงข้อมูลจากทั่วโลกได้ทุกที่ทุกเวลา สมาร์ทโฟน สมาร์ทโฮม ตลอดจนหุ่นยนต์ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้มนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ ในอนาคตอันใกล้ วิธีที่มนุษย์จะใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เหล่านี้ จะเป็นการสนทนาด้วยภาษาธรรมชาติผ่านเทคโนโลยีแช็ตบอต ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้มนุษย์พูดคุย สั่งงาน และสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้เหมือนกับการสนทนากับคนด้วยกันเอง ปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีแบบนี้มาประยุกต์ใช้งานหลายรูปแบบ เช่น ใช้ทำแช็ตบอตสำหรับบริการลูกค้า (Customer Service Chatbot) เช่น Line@ และ Siri ระบบในลำโพงอัจฉริยะ (Smart speaker) เช่น HomePod และ Echo ระบบในหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เช่น หุ่นยนต์ดินสอ เป็นต้น ในระบบสนทนาด้วยภาษาธรรมชาติ ระบบต้องรู้จำเสียงพูด ทำความเข้าใจภาษาได้ สนทนากับคนได้ และมีระบบสืบค้นข้อมูล ระบบสังเคราะห์ภาษา รวมถึงระบบสังเคราะห์เสียงพูด ซึ่งใกล้เคียงกับคนจริงๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้หน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCCRU) เนคเทค สวทช. ทำวิจัยส่วนประกอบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ปัจจุบันมีระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทยที่รองรับคำศัพท์หลากหลาย มีระบบจัดการการสนทนา และระบบสังเคราะห์เสียงพูดที่เป็นธรรมชาติ หน่วยวิจัยฯ ร่วมงานกับพันธมิตรภาคธุรกิจเพื่อวิจัยและพัฒนา รวมถึงประยุกต์ใช้ในงานบริการลูกค้าแบบเฉพาะด้านอีกด้วย

 

         “โลกกำลังพลิกโฉม เกิดโอกาสและธุรกิจรวมถึงบริการในรูปแบบต่างๆ ที่เราไม่เคยมีมาก่อน ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีต้องก้าวให้ทันกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว.. “


ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://goo.gl/2NZ5q1